xs
xsm
sm
md
lg

ทาสหมาเฮ!! ม.มหิดล พัฒนา "ชุดตรวจภูมิแพ้สุนัข" ไม่ต้องส่งตรวจ ตปท. เซฟคอสต์ 10 เท่า รักษาตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่เป็น "ภูมิแพ้" เพราะน้องหมาของเราก็เป็นโรคภูมิแพ้ได้ โดยอาการแพ้ของสุนัข จะเกิดอาการที่ผิวหนังเป็นส่วนใหญ่ จะมีอาการคันฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คาง รอบปาก รอบตา ใบหู รักแร้ และหน้าท้อง เมื่อสุนัขมีอาการจะเลีย แทะเท้า เกา ถูหน้ากับพื้น เมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้บ่อยๆ เป็นเวลานาน อาจมีอาการขนร่วง ผิวหนังติดเชื้ออักเสบ จนทำให้รูปลักษณ์เปลี่ยนไป

รศ.ดร.พญ.อัญชลี ตั้งตรงจิตร อาจารย์ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติการณ์โรคภูมิแพ้ในสัตว์เลี้ยงทั่วโลกสูงขึ้นถึงร้อยละ 15 ซึ่งการตรวจโรคภูมิแพ้ในสุนัขที่ผ่านมาจะทำโดยการ "สะกิดผิวหนัง" ซึ่งต้องมีการวางยาสลบ โกนขน วางสารก่อภูมิแพ้และรอดู ซึ่งเทคนิคนี้ส่วนใหญ่มีเฉพาะในโรงเรียนสัตวแพทย์ใหญ่ๆ ต่อมามีการพัฒนาวิธีตรวจโดยการใช้เลือดของสุนัข เพื่อตรวจหาว่าสิ่งก่อภูมิแพ้ แต่วิธีการนี้ไม่มีบริการในประเทศไทย ที่ผ่านมาต้องส่งเลือดสุนัขไปตรวจต่างประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีเซ็นทรัลแล็บอยู่ที่สิงคโปร์ หรือส่งไปตรวจที่อังกฤษ นับว่ามีความยุ่งยาก เพราะเป็นการส่งเลือดออกนอกประเทศ บางครั้งเกิดปัญหาถูกกักอยู่ที่ด่าน และมีค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 2 หมื่นบาท บางครั้งเจ้าของน้องหมาเสียเงินเยอะ แต่ตรวจไม่ได้ ซึ่งเท่าที่เคยหารือกับสัตวแพทย์โรคผิวหนัง อาจส่งตรวจเลือดเพื่อหาสิ่งก่อภูมิแพ้ได้ประมาณ 10% เท่านั้น

รศ.ดร.พญ.อัญชลี กล่าวว่า ทางบริษัท เว็ท ไดแอกส์ จำกัด ซึ่งให้บริการตรวจเลือดน้องหมา ซึ่งพบปัญหาดังกล่าวมาตลอด และเป็นปัญหาที่ทางสัตวแพทย์พบเจอ จึงได้ตั้งโจทย์วิจัยขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการทำวิจัย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในชุดโครงการ “อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร” ร่วมกับบริษัทดังกล่าว มีตน ร่วมกับ รศ.ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง หน่วยบ่มเพาะวิจัยชีวการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ และ สพ.ญ.มธุรวันต์ ทัฬหิกรณ์ สัตวแพทย์โรคผิวหนัง คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมดำเนินการ

รศ.ดร.พญ.อัญชลี กล่าวอีกว่า การวิจัยจึงได้พัฒนาชุดทดสอบภูมิแพ้ในสุนัข ซึ่งใช้วิธีการตรวจเลือดสุนัขแบบเดียวกับการส่งตรวจต่างประเทศ เรียกว่าเทคโนโลยี "ซีโรโลจี" ซึ่งมาจากคำว่า "ซีรัม" หรือน้ำเลือดที่ใช้ตรวจนั่นเอง โดยชุดทดสอบดังก่าวสามารถใช้ตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ในสุนัขเบื้องต้นได้ 8 ชนิด ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบมากในสุนัข ประกอบด้วย ไรฝุ่น 3 สายพันธุ์ แมลงสาบ 2 สายพันธุ์ คือ อเมริกันและเยอรมัน ผักโขม หญ้าแพรก และหมัด ซึ่งทั้ง 8 ชนิดนี้ก็ครอบคลุมการก่อภูมิแพ้ในสุนัขมากกว่า 90% แล้ว การตรวจจะใช้เลือดของสุนัขเพียง 2 มิลลิลิตร (ซีซี) มาใช้หยอดในหลุมเพลทที่เคลือบสารก่อภูมิแพ้เอาไว้ และจะดูปฏิกิริยาว่าเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด เพื่อให้เกิดการรักษาน้องหมาได้อย่างตรงจุด โดยไม่ต้องไปโกนขนน้องหมา ไปหยุดยา หรือน้องหมามีรอยโรคก็สามารถทำได้

"สาเหตุที่จำเป็นต้องตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ในสุนัข เนื่องจากหากไม่รู้ว่าน้องหมามีอาการภูมิแพ้จากสารกระตุ้นใด ก็จะทำได้เพียงแค่รักษาตามอาการไปอย่างเดียวเท่านั้น คือ การให้ยาลดอาการ ส่วนใหญ่เป็นยากดภูมิ ซึ่งต้องให้น้องหมากินยาไปเรื่อย และเพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ โดยยากลุ่มหลัก คือ สเตียรอยด์ ซึ่งการใช้ในระยะยาว จะตามมาด้วยผลข้างเคียงจนทำให้สุขภาพของน้องหมาแย่ลงได้ ซึ่งการรักษาโรคภูมิแพ้เป็นการรักษาจำเพาะ หากทราบว่าเกิดจากสารกระตุ้นใด ก็ให้เลี่ยงสารกระต้นนั้น เช่น แพ้ไรฝุ่น ก็เลี่ยงหรือปรับบ้านให้ไม่มีไรฝุ่น และใช้วัคซีนรักษาภูมิแพ้ไรฝุ่น เพื่อช่วยลดภาวะไวต่อสิ่งกระตุ้นจนทำให้เกิดอาการ จึงเป็นสาเหตุที่ต้องตรวจหาสิ่งกระตุ้น แต่ที่ผ่านมา ค่าบริการแพงมากทำให้คนเข้าถึงยาก" รศ.ดร.พญ.อัญชลี กล่าว

รศ.ดร.พญ.อัญชลี ระบุอีกว่า สำหรับการพัฒนาชุดทดสอบนี้ เมื่อคิดจากต้นทุนต่างๆ แล้ว ราคาจะตกอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาท เท่านั้น เรียกว่าราคาถูกกว่าการส่งไปตรวจต่างประเทศ 9-10 เท่า ซึ่งเมื่อมีราคาถูกก็จะทำให้เกิดความแพร่หลาย สัตวแพทย์สามารถนำมาใช้บริการตรวจน้องหมาได้ น้องหมาก็จะเข้าถึงบริการการรักษาได้มากขึ้น รู้สาเหตุของอาการภูมิแพ้และรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น ผู้เลี้ยงเองก็จะได้สบายใจว่าจะรักษาน้องหมาจากภูมิแพ้อย่างไร และราคาประหยัดลงอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทที่ร่วมทุนก็ได้ยื่นดำเนินการเพื่อทำเชิงธุรกิจแล้ว ซึ่งจะเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมบริการดูแลรักษาสัตว์เลี้ยง และขยายผลให้บริการในภูมิภาคเอเชียได้อีกด้วย จากการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเอง นอกจากนี้ ยังมีแนวทางพัฒนาต่อยอดเพิ่มชนิดสารก่อภูมิแพ้ในชุดตรวจให้ครอบคลุมมากขึ้น และพัฒนาชุดตรวจภูมิแพ้ในแมว รวมทั้งพัฒนาการผลิตวัคซีนที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ในสุนัข/สัตว์เลี้ยงเป็นโครงการต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น