xs
xsm
sm
md
lg

‘รู้จักตัวเอง’ทักษะดีที่เด็กพึงมี /ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทำไมเด็กบ้านเราจำนวนไม่น้อยค้นหาตัวเองไม่เจอสักที ?

ส่วนหนึ่งเพราะเด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้จักตัวเอง ส่วนใหญ่เดินตามสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองออกแบบชีวิตให้ มักไม่ค่อยรู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไรจริงๆ

ทำไมเด็กที่เรียนจบใหม่มักจะเปลี่ยนงานบ่อย และทำงานไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา?

ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อทำงานที่นี่ก็รู้สึกไม่ใช่ ทำงานที่นั่นก็รู้สึกไม่เหมาะ หรือเมื่อเรียนจบก็พบว่าตัวเองไม่ได้ชอบคณะที่เรียนมา รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเอง เด็กแบบนี้มีไม่น้อย บางคนอาจค้นพบตัวเองตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ทำให้ต้องย้ายคณะกลางคัน หรือยอมเรียนซ้ำชั้นเพื่อเปลี่ยนคณะที่เรียน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ค้นพบว่าตัวเองชอบสิ่งใดเมื่อเรียนจบออกมา แล้วไปหางานทำซึ่งไม่ตรงกับสายที่เรียนจบมา

แม้จะมีไม่น้อยที่ตัดสินใจทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักในภายหลัง ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะต้องเสียเวลาในการค้นหาความสนใจและสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่ก็ยังดีที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่บางคนอาจใช้เวลานานกว่าจะค้นพบว่าตัวเองทำงานหรือถนัดอะไร หรือทำสิ่งใดได้ดี

และบางคนอาจไม่เคยพบเลยตลอดชีวิตก็เป็นได้ !

การรู้จักตัวเอง ดูเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนไม่คิดว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ เพราะคิดว่าตัวเราย่อมรู้จักตัวเราดีอยู่แล้ว แต่แท้จริงแล้วในหลายเรื่องนั้นอาจแทบไม่รู้จักตัวเองเลย ซึ่งทำให้หลายคนแม้จะมีความรู้มากมาย เก่งสารพัด แต่ก็เอาตัวไม่รอด เพราะไม่รู้จักตัวตนอย่างถ่องแท้ หรือไม่รู้จะนำความรู้นั้นไปใช้อย่างไร

การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างพื้นฐานชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก เพราะการรู้จักตัวเองจะนำไปสู่การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต รู้ว่าตนมีความถนัด ความชอบ และความสามารถในด้านใด รู้วิธีเฉพาะตัวที่ถนัดในการเรียนรู้ของตนเองว่าทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เช่น รู้เทคนิคการจดจำทิศทาง รู้วิธีการอ่านหนังสือได้เร็วฯลฯ

หรือรู้จุดอ่อนของตัวเองทำให้สามารถหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เช่น เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นคนใจร้อน ก็พยายามหาทางแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์ไม่ให้เกิดอารมณ์นั้นๆ หรือรู้ว่าจะจัดการอารมณ์ตัวเองขณะนั้นได้อย่างไร

ทักษะการรู้จักตัวเองจึงเป็นทักษะสำคัญที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูก เพื่อนำไปสู่การรู้จักตัวเอง เป็นรากฐานสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ

เรื่องส่งเสริมความถนัดและความสนใจของลูกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรฝึกฝนทักษะตั้งแต่วัยเยาว์ ในการช่วยให้ลูกค้นหาและ“รู้จักตัวเอง” โดยการ...

หนึ่ง -ให้โอกาส
คนบางคนได้รับโอกาสมากมาย บางคนขาดโอกาส บางคนมองไม่เห็นโอกาส ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของชีวิตในช่วงนั้นๆ แต่ที่อยากจะเน้นในที่นี้ คือช่วงวัยเด็ก วัยสำคัญที่สุดในช่วงชีวิตมนุษย์ ที่ควรได้รับ “โอกาส” จากผู้ใหญ่ที่ควรทำหน้าที่ “ให้โอกาส” กับเด็กให้มากที่สุด

พ่อแม่ควรทำหน้าที่คอยสังเกตและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกถนัดและทำได้ดี จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจ และมีความพยายามที่จะทำสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี อย่าพยายามคิดและตัดสินใจแทนลูก แต่เปลี่ยนมาสร้างบทบาทการฟังลูกให้มาก ฟังอย่างตั้งใจ เพื่อจะได้รู้ว่าลูกคิดอย่างไร ลูกอยากทำอะไร โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้แนะนำ เพื่อส่งเสริมให้ลูกได้รู้จักตัวเอง มีความถนัดอะไร ชอบอะไร ทำอะไรได้ดี และควรปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเองอย่างไร

สอง -ให้อิสระ
พ่อแม่ควรให้อิสระแก่ลูกในการคิดอ่านหรือทำสิ่งใดไม่ควรเป็นผู้บงการชีวิตลูกว่าจะให้ลูกทำอะไร หรือฝากความหวังไว้กับลูกมากจนเกินไป บางคนให้ลูกสานฝันของตัวพ่อแม่เองที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดยไม่คำนึงว่าลูกจะชอบหรือถนัดในด้านนั้นหรือไม่ พ่อแม่ที่ปรารถนาให้ลูกรู้จักตัวเองจึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้สามารถตัดสินใจในการเลือกสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่มีหน้าที่คอยชี้แนะอยู่ห่างๆ

สาม-ให้ลูกเห็นตัวเอง
คนเป็นพ่อแม่สามารถทำหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนให้ลูกได้เห็นตนเองในมุมต่างๆ ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง จุดดี จุดด้อย ฯลฯ การสะท้อนภาพด้วยวัยและประสบการณ์ของลูกอาจทำให้เขามองเห็นภาพของตัวเองได้หลากหลาย เหมาะสม หรือบิดเบี้ยวผิดจากความเป็นจริง หรือฟังจากคนรอบข้างมาอย่างผิดๆ พ่อแม่ต้องปรับความเข้าใจของลูกที่มีต่อตัวเองให้ถูกต้องเป็นจริงให้มากที่สุด นั่นหมายความว่าพ่อแม่ต้องมองลูกด้วยสายตาความเป็นจริง มิใช่อคติหรือลำเอียง

การสอนและเตือนสติเป็นสิ่งจำเป็น พ่อแม่คือผู้ที่เห็นลูกอย่างใกล้ชิดที่สุด และสามารถเข้าใจความเป็นตัวตนของเขามากที่สุด

สี่ - ให้ความเคารพ
เมื่อลูกของเราค้นหาและค้นพบว่าตัวเองถนัดอะไร ชอบอะไร ซึ่งไม่ว่าสิ่งนั้นจะตรงใจพ่อแม่หรือไม่ก็ตาม ต้องเข้าใจ ยอมรับและเคารพในตัวลูกด้วย ที่สำคัญควรสร้างทัศนคติว่าพ่อแม่ลูกสามารถคุยกันได้ มีความเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

ห้า - ให้ประสบการณ์
ช่วงวัยเด็กเล็กเป็นวัยที่สำคัญมาก เป็นวัยช่างซักช่างถาม ต้องเปิดโอกาสให้ลูกเป็นเจ้าหนูทำไม และพ่อแม่ก็อย่าขี้เกียจตอบ พยายามตอบให้ได้มากที่สุด และคำตอบก็ควรจะเป็นลักษณะถามลูกว่าแล้วลูกคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เป็นคำถามปลายเปิด เพื่อช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้คิดต่อ บางคำถามสามารถมีหลายคำตอบได้ ก็ชวนให้ลูกคิดตาม

เมื่อลูกโตขึ้นก็ขยับความสนใจให้ลูกเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น ซับซ้อนตามวัย ยิ่งถ้าเป็นการให้เขาเรียนรู้สิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่เขาชอบ ก็จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีต่อไปในอนาคต

หก - ให้พัฒนาตัวเอง
เด็กควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคมเริ่มที่การถูกเลี้ยงดู และได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ซึ่งหมายความว่าถ้าเด็กได้รับโอกาสที่ดีและเหมาะสม ก็จะนำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้ด้วย

เจ็ด - ให้ลงมือทำ
การเปิดโอกาสให้ลูกลองผิดลองถูก คือ ขั้นของการพัฒนาตัวเองที่เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เปิดโอกาสอย่างเดียว การเปิดโอกาสต้องปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำด้วย เพราะการได้ลงมือทำคือการได้เรียนรู้ ได้ลองค้นหาด้วยตัวเอง ทำให้ได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์ และประเมินได้ว่าเราถนัดอะไร

แปด - ให้แก้ไขเมื่อผิดพลาด
คนเรามีสิทธิทำผิดพลาดได้ทุกคน แต่เมื่อผิดพลาดแล้วเราสามารถจัดการมันได้หรือไม่อย่างไร และที่สำคัญถ้าเป็นเด็กทำผิดพลาดแล้ว พ่อแม่ทำอย่างไร เปิดโอกาสให้เขาได้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือไม่ รวมถึงการเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราเป็นเด็กอย่างไร ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุหรือไม่ หรือพื้นฐานเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก การจัดการหรือการให้โอกาสเขา จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเขาด้วย

การรู้จักตัวเองไม่ใช่ปลูกฝังเพียงแค่ที่บ้าน แต่ต้องได้รับการส่งเสริมและฝึกฝนจากโรงเรียนด้วย เพราะเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนต้องออกแบบการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัวเอง มิใช่ผลิตให้เด็กออกมาเหมือนๆกัน และสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าตัวเองเรียนหนังสือไปทำไม ถนัดอะไร เรียนจบจะไปทำอะไร?

นึกถึงเพื่อนที่เคยไปใช้ชีวิตที่เดนมาร์กเคยเล่าให้ฟังเมื่อนานมาแล้วว่า เดนมาร์กเคยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีแนวทางในการสนับสนุนให้เด็กบ้านเขารู้จักตัวเองผ่านระบบการศึกษาด้วยแนวทาง “การศึกษาไม่ใช่การแข่งขันเพื่อหาคนที่เก่งที่สุด แต่คือเครื่องมือช่วยนำพาชีวิตอนาคตของชาติ”และ “การเรียนที่ดีที่สุดคือการที่ผู้เรียนมีความสุขที่จะเรียนรู้”

สิ่งที่โรงเรียนดำเนินการคือการให้ข้อมูลข่าวสารกับเด็ก และให้เด็กค้นหาตัวเองว่าเขาสนใจอยากทำอะไร ไม่เน้นเก่งแต่ในห้อง เน้นการพัฒนาตัวเองตลอดชีวิตสอนให้เด็กรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้ ดีกว่าการอ่านออกเขียนได้

เมื่อต้องท่องจำหนังสือมากๆ จะทำให้เด็กไม่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง แต่การดึงความสามารถและบุคลิกของเด็กๆออกมาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้มากกว่าท่องตำรานักเรียนจะถูกฝึกให้หาข้อมูลด้วยตัวเอง ทดลองและวิเคราะห์ข้อมูลนั้นเอง โดยไม่มีอาจารย์คอยสอนในชั้นเรียน สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาระบบความคิด และทำให้เด็กค้นหาตัวเองได้มากขึ้น

ในบรรดาความรู้ทั้งหลายในโลกกว้าง การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เพราะจะเป็นพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ในโลกกว้างต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น