xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์พบประติมากรรมดินเผา “อสูร” เนินโบราณสถานวัดพระงาม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักโบราณคดี เผยขุดพบ ประติมากรรมดินผา “อสูร” ขนาดใหญ่ บริเวณเนินโบราณสถานวัดพระงาม จ.นครปฐม

น.ส.ปิยนันท์ ชอบศิลประกอบ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 2 จ. สุพรรณบุรี กล่าวว่า กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 2 จ. สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการ โครงการอนุรักษ์ และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงาม จ. นครปฐม สร้างขึ้นสมัยวัฒนธรรมทวาราวดี อายุระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ 11-16 เพื่อทำการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมทวาราวดีของเมืองนครปฐมโบราณ ให้มีการอนุรักษ์โบราณสถานแห่งนี้เอาไว้ รวมทั้งป้องกันการถูกทำลายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของ จ. นครปฐม ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 นักโบราณคดี ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ทำการขุดเปิดพื้นที่บริเวณเนินดินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งโบราณสถาน ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดทางรถไฟ เป็นครั้งแรก พบ โบราณวัตถุที่สำคัญหลายชิ้น นับเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ นำไปสู่การหาข้อมูลทางโบราณคดีประกอบการศึกษาค้นคว้า

สำหรับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ขุดพบ ประกอบด้วย พระพิมพ์ดินเผา 2 พิมพ์ คาดว่าจะเป็น พิมพ์ มหาปาฏิหาริย์ และอีกพิมพ์ เป็น รูปพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ แวดล้อมด้วยเครื่องสูง ซึ่งเคยพบมาแล้ว ที่วัดพระเมรุ และแหล่งโบราณคดี ใน จ. นครปฐม พร้อมกันนี้ยังพบ อิฐสลักลวดลาย อิฐที่เป็นริ้ว เทคนิคพิเศษ และอิฐจารึก อักษรมอญโบราณ และที่น่าสนใจ ของการขุดค้นครั้งนี้ เป็น ประติมากรรม ดินเผา รูปอสูร ขนาดใหญ่ สังเกตเบื้องต้นจากเขี้ยวที่อยู่ทางด้านขวาของประติมากรรม ในการขุดพบชิ้นส่วนกระจายอยู่ไม่ห่างกัน ซึ่งนำมาประกอบเข้ากันเป็นรูปร่างได้เกือบสมบูรณ์ ทั้งส่วนหน้า ลำตัว บั้นเอว ส่วนเข่า

นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วน พระพุทธรูปหินสีเขียว อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ นักโบราณคดีจะทำการคัดแยกโบราณวัตถุ และนำมาทำการศึกษาเปรียบเทียบหาข้อมูลศิลปกรรมของโบราณวัตถุ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การศึกษายุคสมัยของโบราณสถานได้ จากนั้น จะมีการทำทะเบียนโบราณวัตถุ แต่ละชิ้น เพื่อนำส่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เพื่อทำการอนุรักษ์ ต่อไป

“ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ขุดค้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีคนทำการสำรวจ และพบโบราณวัตถุ ที่วัดพระงามแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อาทิ พระพุทธรูปสำริด กวางหมอบ ธรรมจักรพระพิมพ์ดินเผา และเศียรพระพุทธรูปดินเผาที่มีความงดงาม ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า แรกสร้างพื้นที่ตั้งโบราณสถานแห่งนี้ เคยเป็นสถูปรูปทรงแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สมัยทวาราวดี ขนาดความกว้าง 40x45 เมตร อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร ขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีได้เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งสร้างความชัดเจนในการศึกษาแหล่งเนินดินที่ตั้งโบราณสถานของวัดพระงามเพิ่มขึ้น” นักโบราณคดี กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น