กรมแพทย์แผนไทย รับ "ปัสสาวะบำบัด" เป็นศาสตร์ดั้งเดิม แต่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล มักใช้ฉี่ตัวเองรักษา ไม่ใช้ฉี่คนอื่น เว้นฉี่เด็กทำกระสายยาบางตำรับ พบบางส่วนใช้แก้พิษแมงกะพรุนไฟ แมลงกัดต่อย ยันไม่แนะดื่มหรือหยอดตา ชี้คัดกรองศาสตร์ดั้งเดิม ต้องดูความเหมาะสมและจำเป็น ไม่ใช่ทุกอย่างดีหมด หากหมอแผนไทยแนะให้ใช้ แจ้งสภาฯ สอบมาตรฐานได้
วันนี้ (27 ส.ค.) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีการใช้น้ำปัสสาวะหรือฉี่รักษาโรค ว่า ปัสสาวะบำบัด (Urine Therapy) เป็นศาสตร์ดั้งเดิม หลายประเทศก็มีการใช้ เช่น อินเดีย เป็นต้น แต่ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล และจะเป็นการใช้ปัสสาวะตัวเอง ส่วนที่เป็นข่าวว่ามีการใช้ปัสสาวะซึ่งไม่ทราบว่าของใครเอาไปให้คนอื่นกินหรือนักเรียนดื่ม หากทำจริงก็ไม่ใช่ตามศาสตร์ แต่ก็มีบ้างที่มีการใช้ปัสสาวะคนอื่น เช่น ปัสสาวะเด็กในการทำเป็นน้ำกระสายยาในการเจือยาต่างๆ แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ยังไม่มีการวิจัยที่บอกว่าปัสสาวะมีประโยชน์ ดังนั้น การจะนำปัสสาวะตัวเองมาใช้กับตัวเองก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ดุลพินิจและการพิจารณาของตัวเอง แต่กรมฯ คงไม่แนะนำให้ทำ แต่การนำปัสสาวะของตัวเองหรือของคนอื่นไปให้คนอื่นใช้หรือดื่มเป็นเรื่องที่ไม่ควร
"ตามศาสตร์ดั้งเดิมหรือโบราณ ก็มีการนำน้ำปัสสาวะมาดองสมอ แต่เป็นการใช้น้ำปัสสาวะตัวเองมาใช้กับตัวเอง บางตำรับมีการใช้ปัสสาวะเด็กมาใช้เป็นน้ำกระสายยาบางส่วน แต่สมัยนี้ไม่น่ามีแล้ว หรือที่มีความแพร่หลายมากหน่อย คือ นำมาใช้แก้พิษแมงกะพรุนไฟ หรือการใช้ทาผื่นคันจากแมลงกัดต่อย แต่ก็มีคนแย้งว่ายิ่งทายิ่งเจ็บก็มี ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเองว่าสมควรใช้หรือไม่ แต่ไม่ควรเอาของตัวเองหรือของคนอื่นไปให้คนอื่นใช้ หรือนำไปใช้ดื่ม หยอดตา เพราะเพราะปัสสาวะเป็นของเสีย อาจมีสารอะไรบางอย่างและอาจปนเปื้อนเชื้อโรค ยิ่งผู้หญิงท่อปัสสาวะใกล้ทวารหนักก็ยิ่งเสี่ยง ที่สำคัญยังมีวิธีในการรักษาอื่นๆ อีกมาก" นพมรุต กล่าว
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า เรามีภูมิปัญญาดั้งเดิมจำนวนมาก กรมฯ มีหน้าที่คัดกรองภูมิปัญญาและศาสตร์เหล่านี้อะไรที่ควรนำมาใช้ในระบบบริการ ประชาชนควรเอาไปใช้ แต่ไม่ใช่คิดว่าทุกอย่างดีหมดแล้วเอาไปใช้ โดยจะดูความจำเป็นและความเหมาะสมกับวิถีชีวิตปัจจุบันด้วย อย่างเรื่องปัสสาวะก็ต้องถามว่าเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งสมัยก่อนอาหารการกินก็ต่างจากปัจจุบัน ของเสียอาจมีน้อยกว่า ดังนั้น จึงควรเอาภูมิปัญญาอื่นๆ มาทำการศึกษาวิจัยก่อนเรื่องปัสสาวะหรือไม่ เพราะก็มีวิธีการอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้รักษาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีถ้าเป็นแพทย์แผนไทย หรือแพทย์พื้นบ้านรักษาโรคด้วยน้ำปัสสาวะจะถือว่าผิดหรือไม่ นพ.มรุต กล่าวว่า ก็ต้องดูเงื่อนไขของแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน สิ่งสำคัญคือ การไปรักษาทำให้เสียโอกาสการรักษาโรคหรือไม่ หรือไปแนะนำว่าอย่างไร ตรงนี้หากมีการร้องเรียนเราก็พร้อมตรวจสอบ โดยสามารถร้องเรียนได้ที่สภาวิชาชีพว่าสิ่งที่ทำผิดมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่