หากต้องการเรียนดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ ที่เด็กนักเรียนเฝ้าฝันที่จะเข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยให้ได้ ซึ่งปัจจุบันวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ยังคงรับนักศึกษาผ่านระบบรับตรง ไม่ได้เข้าร่วมกับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือ TCAS โดยมีการออดิชันอย่างเข้มข้น เรียกว่าเก่ง มีพรสวรรค์จริงถึงเข้ามาเรียนได้
ดร.ณรงค์ ปรางเจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กล่าวว่า วิทยาลัยฯ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย หรือเตรียมอุดมดนตรี (Pre College) ส่วนในระดับอุดมศึกษาเรายังคงใช้การรับตรงผ่านการออดิชัน ซึ่งการที่ไม่เข้าร่วมกับระบบ TCAS เพราะหากใช้เพียงพอร์ตฟอลิโอก็คงไม่สามารถวัดได้ แต่ต้องมีการออดิชันให้เห็นกันว่ามีความสามารถอย่างไร เพราะขนาดการคัดเลือกคนขึ้นไปร้องเพลงตามเวทีประกวดต่างๆ ก็ยังมีการออดิชันเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่ว่าระบบ TCAS นั้นไม่ดี หรือเราไม่อยากเข้าร่วม เพียงแต่หากจะเข้าร่วมก็ต้องมีการปรับระบบให้สอดคล้องกับการรับนักศึกษา โดยในช่วงปลาย ส.ค.นี้จะมีการหารือกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านดนตรี เช่น ม.ศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ม.รังสิต เพื่อทำข้อเสนอถึงการรับนักศึกษาผ่านระบบ TCAS
แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ กำลังดำเนินการเรื่องของธนาคารหน่วยกิตหรือ Credit Bank ให้กับคนทั่วๆ ไปเข้ามาเรียนด้วย โดยไม่ต้องผ่านการออดิชันหรือต้องเก่งดนตรีเท่านั้นจึงจะเข้ามาเรียนได้
ดร.ณรงค์ เปิดเผยว่า การเรียนผ่านระบบดังกล่าวก็เหมือนกับการฝากเงิน โดยเก็บหน่วยกิตไปเรื่อยๆ ครบเมื่อไรก็มาสอบเพื่อรับปริญญา ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กที่ด้อยโอกาสทั้งหลาย เช่น น้องที่มีอาการเป็นออทิสติก ดาวน์ซินโดรม หูหนวกตาบอด เด็กพิการ ก็จะสามารถมาเรียนในเวลาของเขาได้ ใช้เวลาของตัวเองไม่ถูกมหาวิทยาลัยบังคับว่าจะต้องเรียนจบภายใน 4 ปี หรือ 8 ปี และเรียนในเรื่องที่ตัวเองอยากจะรู้จริงๆ รวมไปถึงออนไลน์คลาสเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย สร้างความสะดวก เพราะอย่างที่บอกว่าเราเป็นสาขาวิชาชีพ เป็นทักษะ ไม่ใช่ทฤษฎี การที่เรียนในคลาสเรียน อาจจะต้องมาเรียนทักษะมากกว่าทฤษฎี ดังนั้น การเรียนออนไลน์คลาสจะสามารถเรียนทฤษฎีอยู่ที่บ้าน เวลาเข้ามาวิทยาลัยก็จะคล้ายกับหมอที่ต้องมาฝึกผ่าตัด ซึ่งอาจารย์จะมีส่วนช่วยในการพัฒนา เป็นโครงการที่เราเตรียมพัฒนาเพื่อขึ้นไปในอีกระดับ
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับการเรียนผ่าน Credit Bank วิทยาลัยฯ อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อเสนอเข้ากระบวนการอนุมัติ ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติของสภามหาวิทยาลัยก่อนที่จะนำเสนอต่อ สกอ. ต่อไป ในขณะเดียวกันทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้ดำเนินการจัดทำและพัฒนาระบบ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ไปพร้อมๆ กัน โดยคาดว่าภายใน 1 ปีน่าจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งคนที่จะมาเรียนผ่านระบบนี้เราไม่ได้กำหนดอายุไว้ว่าต้องเท่าไร เพราะเราเปิดรับคนทั่วไปให้เข้ามาเรียนได้ แต่ก็ต้องไม่เด็กเกินไปเพราะอาจไม่เข้าใจในการศึกษาระดับปริญญาตรี อย่างเช่น ประถมศึกษาปีที่ 6 ก็อาจจะยังไม่เข้าใจ จึงอาจจะเปิดตั้งแต่ม.ปลายขึ้นไป เพราะอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการให้เด็กมัธยมลองลงเรียนเป็นคอร์สของมหาวิทยาลัย หากสอบผ่านก็สามารถเอาเครดิตมาใช้เทียบโอนตอนเรียนระดับอุดมศึกษาได้ ก็จะจบได้ไวขึ้น
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเรียนด้านดนตรี สัมผัสสุนทรียศาสตร์ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะตนมองว่า ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป หรือนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาอื่นๆ ควรต้องได้เรียนดนตรีด้วยส่วนหนึ่ง เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปรวดเร็ว จะพบว่า เด็กมัธยมศึกษา 10 คน จะมี 1 คนเป็นโรคซึมเศร้า หรือจะเห็นได้ว่าเด็กยุคใหม่เมื่อเผชิญกับความเครียด ก็ทำให้เปลี่ยนงานบ่อย อย่างทำงานได้ 3 ปีก็เปลี่ยนแล้ว แต่หากมีการเข้ามาเรียนดนตรี สามารถอแดปตัวเองเชื่อมโยงตัวเองเข้าหาดนตรี เพื่อให้ดนตรีช่วยแบ่งเบาเราได้ก็จะเป็นทางหนึ่งในการช่วยสร้างสุขภาวะที่ดี และการเรียนแบบ Credit Bank ก็จะช่วยให้คนวัยทำงาน อายุ 30-40 ปี เข้ามาเทรนในเรื่องที่ตนเองอยากเรียนอยากรู้ได้ ซึ่งอาจจะมาเรียนเป็นคอร์ส หรือทั้งหลักสูตร หรือเป็นหลักสูตรแบบต่อเนื่องได้ เช่น อยากมาเรียนเกี่ยวกับการร้อง หรืออย่างหมออาจจะมาเรียนเกี่ยวกับเสียงดนตรีเพื่อเอาไปใช้ต่อยอดในการบำบัดรักษาด้วยเสียงให้คนไข้มีความเครียดน้อยลง ก็จะเป็นอีกทางเลือก
ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีการเปิดคอร์สคอรัสสำหรับผู้สูงอายุ 60-85 ปีแล้ว ซึ่งได้จัดมาแล้ว 4 รุ่น กำลังขึ้นรุ่นที่ 5 โดยแต่ละรุ่นจะรับได้ประมาณ 150 คน ซึ่งไม่ต้องมีการมาออดิชันเช่นกัน ไม่ต้องเก่งดนตรี ไม่ต้องร้องเพลงเป็น แต่ใครที่มาสมัครก่อนก็ได้เรียนก่อน โดยค่าสมัครอยู่ที่ 1,000 บาท คอร์สหนึ่งประมาณ 3-4 เดือน เมื่อเรียนจบก็จะมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตเป็นวงประสานเสียง ซึ่งผู้สูงอายุที่มาเรียนเมื่อเวลาอยู่บนเวทีเขามีความสุขกันมาก มากกว่าลูกหลานที่มาฟังกันเสียอีก บางคนยังบอกว่าเมื่อก่อนจูงลูกหลานมาเรียนดนตรี แต่ตอนนี้สลับกันเป็นลูกหลานพาพวกเขามาเรียนบ้าง และเมื่อเรียนจบเราก็สนับสนุนเรื่องของการเป็นจิตอาสา ไปแสดงร้องเพลงสถานที่ต่างๆ ซึ่งเขาก็จะเลือกกันเองว่าจะไปที่ไหน อย่างที่ผ่านมาก็มีเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ต ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือโรงเรียนสุพรรณปัญญานุกูล จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิสซึมและดาวน์ซินโดรม ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีสังคม ได้เพิ่มมูลค่าแก่ตัวเอง และเป็นการสร้างความสุขอีกทอดให้แก่ผู้อื่นด้วย
สำหรับการเรียนการสอนโดยทั่วไปของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ดร.ณรงค์ ระบุว่า วิทยาลัยฯ มีผู้สมัครเข้าศึกษาจำนวนมาก อย่างระดับ Pre College ในปีการศึกษา 2561 เรารับประมาณ 70 คน ที่รับมากไม่ได้ เนื่องจากเป็นการรับนักเรียนมากินนอนในวิทยาลัย จะรับเยอะมากก็ไม่ได้ จึงมีสัดส่วนประมาณนี้ ส่วนระดับปริญญาตรีประมาณ 200 คน ซึ่งในปีการศึกษา 2561 ก็รับนักศึกษาได้ประมาณ 188 คน ส่วนระดับปริญญาโท รับประมาณ 20-30 คน และปริญญาเอกประมาณไม่ถึง 10 คน ซึ่งคนที่จบจากวิทยาลัย สามารถออกไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับดนตรีในประเทศจำนวนมาก และที่น่าสนใจ คือ มีออกไปทำงานในต่างประเทศด้วย เช่น บางคนเป็นนักร้องโอเปราที่เวียนนา เยอรมนี หลายคนไปประกอบอาชีพนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ในต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยควรส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีหรือธุรกิจดนตรีมากขึ้น เพราะยังสามารถต่อยอดได้อีกไกลทั้งในประเทศและระดับโลก เพราะเรื่องเอนเตอเทนเมนต์ ไม่ว่าตลาดหุ้นตกกี่ครั้ง ฮอลลีวูดไม่เคยเล็กลง แต่ใหญ่ขึ้นทุกปี และทุกคนเวลาเครียด ศิลปะดนตรีเป็นเรื่องที่เขาต้องการมากที่สุดเพื่อผ่อนคลาย
“หากประเทศไทยส่งเสริมเรื่องธุรกิจดนตรี ทำให้เป็นอาชีพ ตรงนี้จะสามารถสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้มาก ลองจินตนาการดูว่า หากเรามีแบบบียองเซสักคนในประเทศเงินจะไหลเข้ามาประเทศเราเท่าไร เราพยายามเน้นธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ด้านศิลปะวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เราลืมไป อย่างประเทศเกาหลีใต้เขาสามารถดึงเงินเข้าประเทศได้เท่าไรจากการที่ขายศิลปะและวัฒนธรรม ตรงนี้จะเป็นจุดใหม่ทำให้ประเทศเราพัฒนาไปได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศ โดยจะต้องมีครีเอทิวิตีในการสร้างตลาด จะไปอยู่แบบเดิมไม่ได้ เช่น นักร้องจะไปวิ่งค่ายเพลงเพื่อออกซิงเกิลก็อาจจะสู้นักร้องที่เป็นยูทูบเบอร์ไม่ได้ เพราะกระบวนการต่างกัน แต่ว่าถ้าเรามีเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เราพัฒนาตลาดงานออกไปได้อีกเยอะ” ดร.ณรงค์ กล่าว
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การเรียนการสอนของวิทยาลัยเราพยายามให้เด็กของเรามีความคิดสร้างสรรค์ ค้นหาตัวเองให้เจอ เราไม่มุ่งเน้นเรื่องความเชี่ยวชาญ เพราะเป็นเรื่องของเทคนิค ซึ่งในฐานะผู้สอนควรส่งเสริมอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้หาตัวเองเจอในแง่ของศิลปิน ความโดดเด่นขอตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ซึ่งคนที่ค้นพบตัวเอง หาเส้นทางของตัวเองเจอ ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ สร้างงานต่างๆ ออกมาสู่ตลาดได้มากขึ้น โดยล่าสุดวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก MusiQuE ทั้งระดับสถาบันและระดับหลักสูตรของปริญญาตรี ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในระดับยุโรป ทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรียกว่าหลักสูตรเทียบเท่ากับการไปเรียนที่ยุโรป และจะยื่นการรับรองหลักสูตรในระดับปริญญาโทและเอกต่อไปด้วย
สำหรับการเรียนการระดับปริญญาตรี มี 9 วิชาเอก คือ 1.ปฏิบัติดนตรีคลาสสิก ซึ่งมีการสอนเครื่องดนตรีครบทุกชิ้นในวงออเคสตรา 2.ดนตรีแจ๊ส 3.ดนตรีสมัยนิยม 4.ละครเพลง 5.ดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก 6.การประพันธ์ดนตรี 7.ธุรกิจดนตรี 8.ดนตรีศึกษาและการสอน และ 9.เทคโนโลยีดนตรี ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับเบื้องหลังทุกอย่างของการทำดนตรี ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกถือว่าครบครัน ทั้งห้องเรียนไพรเวทคลาส ที่เป็นการเรียนแบบตัวต่อตัว เพื่อให้แนะนำ แก้ไขข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาด ส่งเสริมพัมนาการและทักษะแก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ มีห้องแสดงดนตรีความจุ 80-100 ที่นั่ง เพื่อสอนและฝึกซ้อมแบบรวมวงทั้งวงเล็กวงใหญ่ มีห้องบันทึกเสียง ห้องเรียนคีย์บอร์ด ลานวงรีกลางแจ้งในการจัดแสดง รวมถึงหอแสดงดนตรีความจุ 353 ที่นั่ง สำหรับการแสดงจริงของนักศึกษาทุกสาขาวิชา ทั้งคอนเสิร์ต การละคร ละครเพลง และห้องสมุดดนตรีที่ถือว่าเป็นแห่งแรกๆ ของไทยที่มีความครบครันทั้งผลงานเพลง ดนตรีทุกชนิด ฐานข้อมูลทางดนตรี และการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับดนตรีไว้ให้บริการ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไปได้เข้ามาค้นคว้า