xs
xsm
sm
md
lg

เผยสูตรยาพอกรอบ "ดวงตา" ลดเมื่อยล้า ปวดหัว ไมเกรน จากบอระเพ็ด บัวบก ฟ้าทะลายโจร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน เผยสูตรยาพอกรอบดวงตา ลดตาเมื่อยล้า ปวดหัว ไมเกรน ใช้แค่บอระเพ็ด บัวบก ฟ้าทะลายโจร บดละเอียดผสมไข่ขาว ด้าน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชูพรีไบโอติกส์จาก "ผักดอง" เพิ่มเชื้อแบคทีเรียที่ดีในทางเดินอาหาร ปรับสมดุลท้องไส้

วันนี้ (23 ส.ค.) ที่ภูมิภูเบศร จ.ปราจีนบุรี บรรยากาศวันที่สองของงานมหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน จัดโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นไปอย่างคึกคัก นอกจากการเสวนาที่กลุ่มประเทศอาเซียนนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ยังมีการจัดนิทรรศการ และให้บริการตรวจรักษา ให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่แต่ละประเทศนำมาจัดแสดง จุดหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจมาก คือ การให้ความรู้และบริการพอกยารอบดวงตาเพื่อการผ่อนคลาย ลดความเมื่อยล้าของดวงตา ลดอาการปวดศีรษะและไมเกรน

สำหรับยาพอกนั้น เป็นการผสมผสานสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ บอระเพ็ด บัวบก ฟ้าทะลายโจร บดละเอียด นำไปผสมกับไข่ขาวพอประมาณ ขั้นตอน คือ ชุบสำลีกับน้ำสะอาดพอหมาดนำไปแปะไว้ที่ดวงตา ก่อนจะนำสมุนไพรที่ผสมกันพอกลงไปบนสำลี ทิ้งไว้จนแห้งราว 15 นาที และดึงแผ่นสำลีออก จะช่วยลดอาการความเมื่อยล้าของดวงตา ปวดศีรษะและไมเกรนได้ นอกจากนี้ ยังมีการบริการพอกเข่าบรรเทาอาการปวดข้อ ข้อบวมอักเสบ สมุนไพรที่ใช้ในการพอกประกอบด้วย รากหรือเหง้าของดองดึง แป้งข้าวเจ้า ลูกแป้งข้าวหมาก น้ำขิงคั้น ผสมให้เข้ากัน แล้วนำมาพอกบริเวณที่ปวด ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือจนกว่าจะแห้ง

ภายในงานยังมีเด็กจากนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี และใกล้เคียง มาดูงานด้านสมุนไพร ที่ทางเจ้าภาพได้จัดทำฐานฝึกอบรมฐานการเรียนรู้สมุนไพรที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยบูธที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือ กัญชาสำหรับเยาวชน ที่มีการจัดเตรียมข้อมูลตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การปลูก ตลอดจนเทคนิคที่จะทำให้ต้นอยู่รอด และด้ารเคมีของสมุนไพร สารสำคัญที่มีผลต่อการรักษา ตามแนวคิด กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์

ส่วนบรรยากาศในการเสวนา ดร.เทียง ฮวด (Theang Huot) จากประเทศกัมพูชา พูดในหัวข้อ การแพทย์ดั้งเดิมและพืชที่เป็นยาในกัมพูชา โดยบอกว่า ชาวกัมพูชายังคงเชื่อในการรักษาแบบการแพทย์แผนดั้งเดิมถึง 48% โดยเฉพาะคนในชนบทและที่เป็นโรคเรื้อรัง ทั่วประเทศมีหมอสมุนไพรทั้งสิ้นราว 2,000 คน ที่ยังคงใช้ความรู้ที่เรียนมาจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้ โรคที่พบบ่อย 20 โรค เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวาร ท้องร่วง ท้องผูก จมูกอักเสบ ข้ออักเสบ ไวรัสตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อ ไตอักเสบ กระดูกหัก เบาหวาน โรคผิวหนัง โรคทางนรีเวช เป็นต้น ส่วนรูปแบบการรักษามีความคล้ายคลึงกับแพทย์พื้นบ้านในมิติทางจิตวิญญาณและทางกายภาพ เช่น การทำนายสุขภาพ (ดูดวง) อาบน้ำมนต์ รักษาด้วยเหล็กร้อน เข้าเฝือก นวด ครอบแก้ว รวมถึงการใช้สมุนไพรทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุในการรักษา อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายต่อเรื่องการแพทย์ดั้งเดิม ยา และสมุนไพรที่ใช้ในการรักษา ขาดการควบคุมที่ดี สมุนไพรยังเป็นการเก็บจากป่า ตลาดสมุนไพรเป็นตัวเร่งให้เข้าไปเก็บสมุนไพรเพิ่มขึ้น และเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้านดร.เหวียน ทิ ง็อค จาม จากเวียดนาม ได้ทำการวิจัยว่านแร้งคอคำ โดยนำมาสกัดสารอัลคาลอยด์ นำมาทำเป็นยาชนิดใหม่ชื่อ CRILA เพื่อใช้ในการรักษาเนื้องอกมดลูกและต่อมลูกหมากโต โดยมีการทดลองทางคลินิกในโรงพยาบาลของรัฐ 5 แห่งในเวียดนาม พบว่ามีประสิทธิผลในการรักษา 89.18% สำหรับโรคต่อมลูกหมากโต และ 79.5% สำหรับเนื้องอกมดลูก ในส่วนของประเทศไทย คุณตาเพ็ง สุขบัว ปัจจุบันอายุ 100 ปี หมอยาพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญสมุนไพร บอกว่า ว่านแร้งคอคำเด่นทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี เอาหัวมาปลุกเสกแต่จะคุ้มครองได้ระยะหนึ่งเท่านั้น

ตาเพ็ง ยังใช้ว่านแร้งคอคำรักษาผู้ชายปัสสาวะไม่ออก ต่อมลูกหมากโต โดยใช้ใบต้มน้ำกิน หมอยาปราจีน ลุงเฉลา คมคาย ปลูกไว้ประจำบ้าน เป็นพันธุ์บ้านลุงเหลา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้นำมาทำการศึกษาวิจัยเพื่อเป็นยารักษาอาการต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก ความรู้เรื่องการใช้ว่านแร้งคอคำกับปัญหาต่อมลูกหมากถือเป็นความรู้ร่วมของหมอพื้นบ้านไทยและเวียดนาม

ขณะที่ ตอเลส เทเรซ่า เอ็ม (TORRES TERESA M.) จากสถาบันการแพทย์ดั้งเดิมฟิลิปปินส์และสุขภาพทางเลือก นำเสนอการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากภูมิปัญญาสุขภาพท้องถิ่นฟิลิปปินส์ โดยระบุว่า ฟิลิปปินส์เป็น 1 ใน 18 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก มีพืชพรรณกว่า 70% ของโลก มีสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นสูงมาก แต่การบูรณาการการใช้สมุนไพรในระบบสาธารณสุข พบว่าแพทย์ยังไม่ค่อยแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาสมุนไพรเนื่องจากยังขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าการใช้สมุนไพรจะเป็นยาหลักในพื้นที่ชนบทก็ตาม

ด้าน ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้พูดเรื่องพรีไบโอติกส์ จากตำรับอาหารไทยและภูมิปัญญาไทย โดยระบุว่า ผักดองของไทยให้จัดเป็น พรีไบโอติกส์ คืออาหารของเชื้อที่ดีในระบบทางเดินอาหารและช่วยปรับสมดุลท้องไส้ ในระบบทางเดินอาหารของเราจะมีแบคทีเรียตัวดี ที่ทำหน้าที่กำจัดของเสียออกจากลำไส้และอาหารที่จำเป็นกคือพรีไบโอติกส์ที่มาจากอาหารหมักนั่นเอง ส่วนโพรไบโอติกส์คือ กองกำลังหรือจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ หรือแบคทีเรียดี มีหน้าที่หลายอย่าง ทั้งช่วยทำลายสารพิษในลำไส้ สร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายป้องกันแบคทีเรียก่อโรค จากการศึกษาพบว่า ในผักดองหลายตำรับของไทยอุดมไปด้วยโพรไบโอติกส์ และ พรีไบโอติกสที่เป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ เป็นส่วนช่วยป้องกันการเกิดโณคในระบบต่างๆ เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร ภูมิคุ้มกัน ผื่นแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้ และการติดเชื้อปัสสาวะ ได้ ดังนั้นพรีไบโอติกส์จึงเป็นอาหารอีกกลุ่มที่มีความสำคัญและเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพ

สำหรับงานมหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน จะมีไปจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม โดยในวันสุดท้ายของงาน จะมีไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้คือ การเสวนาในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายอุตสาหกรรมกัญชาในประเทศไทย” โดยมี ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะบรรยายในหัวข้อ “กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร พูดถึงเทคนิคและวิธีการปลูกกัญชาในประเทศไทย ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว บอกเล่าถึงสถานการณ์การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีผู้มีประสบการณ์ตรงจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาในต่างประเทศ คุณจันทร์เพ็ญ ชัยวงศ์ขจร ท่านสุดท้ายคือ ดร.ประสาท กิตตะคุปต์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการวิจัยกัญชามายาวนาน โดยเพจเฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร ถ่ายทอดสดตลอดการเสวนา











กำลังโหลดความคิดเห็น