xs
xsm
sm
md
lg

รุมค้าน ททท.ชงปิดผับตี 4 หวั่นอุบัติเหตุช่วงเช้า ทำ นร.-นศ.-คนค้าขายเสี่ยงตาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการ-ภาคประชาสังคม รุมคัดค้าน ททท.ชงปิดผับตี 4 ชี้เสี่ยงเพิ่มทะเลาะวิวาท อาชญากรรม อุบัติเหตุ โดยคนเดินทางช่วงเช้า ทั้งพ่อแค้า แม่ค้า นักเรียน นักศึกษา จ่อยื่น รมว.ท่องเที่ยว คัดค้าน 22 ส.ค.นี้

จากกรณีผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขยายเวลาในการปิดผับหรือสถานบันเทิงจากเวลา 02.00 น. เป็น 04.00 น. โดยอ้างว่าจะเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยว 25%

วันนี้ (21 ส.ค.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีความพยายามเสนอเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะการขยายเวลาปิดสถานบันเทิง จะก่อปัญหาสังคมมากกว่า โดยเฉพาะอุบัติเหตุหลังผับปิด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเมาแล้วขับทั้งสิ้น ซึ่งตัวเลขชัดๆ เครือข่ายไม่ได้จัดทำอย่างเป็นทางการ แต่มีผลกระทบแน่นอน รวมถึงอาชญากรรมและการทะเลาะวิวาทที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ดี ว่าอยากได้นักท่องเที่ยวคุณภาพหรืออะไร เพราะจากที่ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในไทย มีความสนใจหลัก คือ ศิลปะวัฒนธรรม และธรรมชาติ จึงควรไปส่งเสริมด้านนี้มากกว่าหรือไม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า เม็ดเงินจะเข้ามามากกว่า การขยายเวลาปิดผับ เพราะเงินจากการเที่ยวผับคงไม่มาก เพราะเข้าไปก็กินเหล้าบวกมิกเซอร์เท่านั้น ไม่ได้จ่ายไปมากกว่านั้น

นายคำรณ กล่าวว่า วันที่ 22 ส.ค.นี้ เครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือถึง รมว.ท่องเที่ยวฯ เพื่อคัดค้านเรื่องนี้ ส่วนเวลาปิด 02.00 น. เหมาะสมแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐบาลก่อนหน้าที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนกัน ก็ทำเรื่องดีๆ หลายเรื่อง เช่น จัดโซนนิ่งพื้นที่รอบสถานศึกษา ทำให้สถานบันเทิงลดลง เป็นจุดเด่นเรื่องการคุมสถานบันเทิง จึงอยากให้ทำสิ่งที่ดีต่อไป และอยากท้วงติง ททท.ด้วยว่า ที่ผ่านมา ททท.ไปสนับสนุนกิจกรรมลานเบียร์ มีการขึ้นโลโก้ททท.เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ส่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้น การปราบสถานบันเทิงหรือธุรกิจน้ำเมา ต้องได้แม่ทัพที่เข้มแข้ง เพราะหากผู้ถือกฎหมายไม่เข้มแข็ง ก็อาจจะมีปัญหา ระดับนโยบายหลิ่วตา ระดับปฏิบัติการก็ไม่เข้มแข็ง ซึ่งเครือข่ายฯ รอจังหวะขอเข้าพบ เพื่อหารือและขอทราบทิศทางการดูแลเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุมักเกิดในช่วง 16.00 - 18.00 น. และ 00.00 - 02.00 น. เป็นเช่นนี้มาตลอด ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พ่อค้าแม่ค้าไปจ่ายตลาดซื้อของมาเตรียมขาย ทำให้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุคนเมาเพิ่งออกจากผับจำนวนมาก ถ้าขยายมาปิดตอน 04.00 น. เรียกว่า แทบจะปล่อยให้มีการดื่มแทบจะ 24 ชั่วโมง ผลกระทบจะยิ่งมากกว่าเดิมกับคนที่ต้องเดินทางในช่วงเช้า ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงานพ่อค้า แม่ค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ให้ผับปิดเที่ยงคืน แต่ก็มีการเลยเถิด พอมา 02.00 น. ก็เห็นแล้วว่ามีผลกระทบกับคนอื่น ไม่สามารถควบคุมหรือห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าผับ เพราะข่าวก็พบตลอดว่ามีเด็กอายุไม่ถึงเข้าผับจำนวนมาก

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า ตนมอบให้ทีมงานติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนตัวไม่เห็นด้วย แต่เราเกรงว่าจะเบรกเรื่องนี้ไม่อยู่ เพราะภาคธุรกิจรุกหนัก ภาครัฐอ่อนแอ ตามไม่ทันหรืออย่างไร ถ้านโยบายนี้สำเร็จถามว่าการควบคุมดูแลจะทำอย่างไร สถานการณ์จะรุนแรงแค่ไหน ทุกวันนี้กฎหมายที่มีอยู่แทบจะไม่มีการลงโทษอะไร ถ้าไม่อุดรอยรั่วเรือแล้วไปทำให้รั่วมากขึ้นก็ยิ่งจมเร็วขึ้น ตอนนี้ยังไม่มีผู้บริหารคนไหนมาขอข้อมูลผลกระทบจากคนเมา แต่ถึงไม่มาขอก็น่าจะทราบดีว่ามีมากแค่ไหน เรื่องนี้รัฐควรทำงานเชิงรุกป้องกันผลกระทบ ไม่ใช่รอให้ภาคประชาชนหรือใครมาร้องเรียนว่าไม่เหมาะสม แต่วันนี้รัฐกลับจะเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาเองหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ http://maps.mot.go.th/trams_current/MotSummary.aspx ได้เผยแพร่สถานการณ์อุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งรายงานเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2562 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ก.ค. 2562 แบ่งเป็น 6 ช่วงเวลา ได้แก่ 1. เวลา 00.01 - 04.00 น. เกิดอุบัติเหตุ 1,565 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 13.84 เสียชีวิต 288 คน บาดเจ็บ 1,396 คน 2.เวลา 04.01 - 08.00 น.เกิดอุบัติเหตุ 1,602 ครั้ง หรือร้อยละ 14.16 เสียชีวิต 239 คน บาดเจ็บ 1,478 คน 3. เวลา 08.01-12.00 น. เกิดอุบัติเหตุ 2,095 ครั้ง หรือร้อยละ18.52 เสียชีวิต 286 คน บาดเจ็บ 1,829 คน 4. เวลา 12.01 - 16.00 น. เกิดอุบัติเหตุ 2,368 ครั้ง หรือร้อยละ 20.94 เสียชีวิต 260 คน บาดเจ็บ 2,218 คน 5.เวลา 16.01 - 20.00 น. เกิดอุบัติเหตุ 2,180 ครั้ง หรือร้อยละ 19.27 เสียชีวิต 395 คน บาดเจ็บ 2,112 คน และ 6.เวลา 20.01 - 24.00 น. เกิดอุบัติเหตุ 1,500 ครั้ง หรือร้อยละ 13.26 เสียชีวิต 290 คน บาดเจ็บ 1,315 คน

ด้าน นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ฝ่ายวิชาการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ หากพิจารณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี 3 ปัญหา คือ การเข้าถึง เรื่องราคา และเรื่องการตลาด การขยายเวลาอยู่ในปัญหาของการเข้าถึง ทำให้คนเข้าถึงการดื่มเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับการแก้ไขปัญหามาตลอด ตนมองว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีมาตรการทางกฎหมายควบคุมเวลาจำหน่ายให้ถึง 02.00 น. ก็ไม่เห็นคัดค้าน จนกระทั่งมาตอนนี้ แปลกใจเช่นกันว่า เพราะอะไรจะมาขยายเวลา

ผู้สื่อข่าวถามถามว่า การขยายเวลาปิดเป็นการใช้วิธีจัดโซนนิ่งบางพื้นที่ นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ก็เกิดผลกระทบอยู่ดี ทั้งผลกระทบบริเวณโซนนิ่ง เพราะเป็นแหล่งรวมผู้คนที่มาเที่ยวมาดื่ม เสี่ยงเกิดการทะเลาะวิวาท ขณะที่บุคคลจากพื้นที่อื่นๆ ก็จะมาที่จัดโซนนิ่ง เมื่อมาจากพื้นที่อื่น ก็มีการขับรถ เสี่ยงเมาแล้วขับ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มแล้วไม่ขับ ข้อเสนอดังกล่าวต้องคิดดีๆ เพราะจะเกิดผลกระทบมาก ทุกวันนี้ก็มีผลกระทบมากอยู่แล้ว ทั้งเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ขาดรายได้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ภาครัฐต้องจ่ายไปเทียบเท่ากับร้อยละ 1 ของ GDP แทนที่จะเอาส่วนนี้ไปพัฒนาส่วนอื่น หากขยายเวลาก็ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายรัฐแน่ หากคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องเปรียบเทียบกับมิติอื่นๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น