“ลูกเป็นคนชอบหนีปัญหา”
แม่ของลูกวัย 18 ปีเล่าถึงลูกด้วยสีหน้าวิตกกังวลให้เพื่อนๆ ที่เป็นแม่วัยเดียวกันฟัง
“ลูกของฉันก็เป็น บางทีก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องเล็กๆ แต่เขาไม่ยอมแก้ปัญหา ปล่อยปัญหาไปเรื่อยๆ จนเรามารู้เอง”
แม่อีกคนที่มีลูกวัยเดียวกันพูดเสริมว่าหัวอกเดียวกัน
และหัวข้อนี้ก็กลายเป็นประเด็นหลักในบทสนทนาของแม่ๆ ที่ร่วมกันแชร์ประสบการณ์ และพยายามร่วมกันหาทางออก แม้จะไม่มีทางออกเป็นรูปธรรม แต่ก็ดูเหมือนทุกคนสบายใจขึ้น เพราะไม่ได้เผชิญปัญหานี้คนเดียว
บทสนทนาวันนั้นมีข้อสรุปว่า เด็กรุ่นนี้ขาดความอดทน ไม่ยอมลำบาก และไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องให้พ่อแม่เป็นผู้ช่วยเหลือ
เรื่องทักษะการแก้ปัญหาเป็นเรื่องจำเป็นของผู้คนทุกยุคสมัย ไม่เกี่ยวกับเด็กรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า เพราะทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรคในชีวิตทั้งนั้น แตกต่างกันตรงที่จะมีวิธีรับมือ หรือจัดการกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆได้อย่างไรต่างหาก
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการปลูกฝัง หรือการเลี้ยงดูที่เหมาะสมจากพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่าเลี้ยงดูอย่างไร ประคบประหงม หรือปล่อยให้ลูกได้เผชิญปัญหา หรือช่วยเหลือตัวเองมาตั้งแต่เล็กด้วยหรือไม่
ความสามารถในการแก้ไขปัญหา เป็นความฉลาดด้านหนึ่งของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า AQ (Adversity Quotient ) หมายถึง การมีความสามารถในการเอาชนะฝ่าฟันอุปสรรค ความอดทนต่อความยากลำบากโดยไม่ท้อแท้ มีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ ความสามารถในการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมยุคปัจจุบัน
และเป็นทักษะที่พ่อแม่พึงนำมาฝึกทักษะให้กับตัวเองและลูก เพื่อที่จะทำให้ลูกสามารถเอาตัวรอดอยู่ในสังคม และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้
ทักษะการแก้ปัญหามีความจำเป็นยิ่ง เพราะเป็นความสามารถของบุคคลที่จะจัดการกับปัญหาต่าง ๆ รอบตัวในสภาพสังคมปัจจุบันและเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต
การพัฒนาและเสริมสร้างทักษะชีวิตเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชนในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงและเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคต
แม้เรื่องความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
แต่ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงานและการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆอย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองตลอดจนคุณลักษณะที่จะช่วยเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเป้าหมายของหลักสูตร และมีภูมิคุ้มกันการดำเนินชีวิต ผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในกาปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงและท้าทาย ซึ่งต้องใช้กระบวนการคิดและการตัดสินใจที่เหมาะสม จึงจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรียนผ่านวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่เด็กควรได้รับประสบการณ์ตรง และมีโอกาสได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง
วิธีฝึกให้ลูกมีทักษะในการแก้ปัญหา
ประการแรก -พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่าง
ต้องเริ่มจากคนเป็นพ่อแม่ก่อน ต้องเป็นคนเข้าใจปัญหา และเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่กลัวที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาใด แต่มองว่าปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องผ่านไปให้ได้ ลูกจะเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากพ่อแม่
ประการที่สอง - มีปัญหาเป็นเรื่องปกติ
การสร้าง Mindset ว่า “ปัญหา” เกิดขึ้นกับทุกคน เป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ตลอดในชีวิตประจำวัน ต่างกันที่เป็นปัญหาเล็กน้อย ปัญหาใหญ่ ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ฯลฯ สามารถเกิดขึ้นได้ อยู่ที่เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร ซึ่งการรับมือก็มีหลายระดับ เราสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ หรือบางเรื่องอาจต้องขอความช่วยเหลือ
ประการที่สาม - ฝึกให้ลูกคิดบวก
รวมไปถึงการมองโลกในแง่ดี เด็กที่ได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้การแก้ไขปัญหามักเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ และทุกเรื่องมีทางออก พ่อแม่อาจลองจำลองสถานการณ์เพื่อให้ลูกลองแก้ปัญหาง่ายๆ โดยคำนึงถึงวัยของลูกด้วย จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มเติมสถานการณ์ที่ยากขึ้นหรือสลับซับซ้อนมากขึ้น
ประการที่สี่- หมั่นตั้งคำถามกับลูก
การตั้งคำถาม หรือสมมติสถานการณ์บ่อยๆ อาจใช้เหตุการณ์จริง แล้วตั้งคำถามว่าถ้าเป็นลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร รวมถึงบอกถึงวิธีการของพ่อแม่ด้วย ว่าพ่อแม่จะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าวิธีการแก้ปัญหามีหลายแบบ และทุกวิธีก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันอย่างไร เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย
ประการที่ห้า-สอนให้ควบคุมอารมณ์
การควบคุมอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ควรให้เขาเรียนรู้ว่าการใช้อารมณ์ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตรงกันข้ามอาจทำให้ปัญหาบานปลายได้ ควรต้องใช้สติ และค่อยๆ แก้ปัญหาหรือหาทางออก
ประการที่หก-เปิดโอกาสให้คิดวิเคราะห์
ฝึกให้คิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ รอบตัว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนหลากหลายวัย รวมไปถึงการฝึกให้เป็นเด็กช่างสังเกต เพื่อช่วยในการขยายกรอบความคิด ไม่ยึดติดกับการปัญหาหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ และคิดหาวิธีการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่าในหนึ่งปัญหาสามารถหาทางออกได้หลายทาง
รวมไปถึงสอนให้ลูกรู้จักจำแนก เชื่อมโยง คิดหาเหตุผล หรือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาต่างๆ เมื่อลูกทำสำเร็จ จะเกิดความมั่นใจ และเป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ลูกมีศักยภาพในการเผชิญกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต
ประการสุดท้าย - อดทนเป็นเรื่องจำเป็น
ความอดทนมีความจำเป็น เพราะจะตามมาด้วยการฝึกแก้ไขปัญหา ต้องเริ่มจากให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อน จากนั้นให้เด็กได้ลองแก้ไขปัญหาบ่อยๆ ง่ายบ้าง ยากบ้าง โดยดูตามวัยของเด็กเป็นหลัก รวมไปถึงการฝึกให้เขารู้จักที่จะขอความช่วยเหลือในยามจำเป็นก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ด้วยพร้อมทั้งควรสอนเรื่องความมุ่งมั่น พยายามอย่างสร้างสรรค์ ก็จะทำให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตและกล้าเผชิญปัญหา
ทั้งหมดนี้ จะไม่สำเร็จเลยถ้าพ่อแม่ไม่เป็นแบบอย่าง หรือไม่ได้ปฏิบัติตนให้ลูกเห็น
หมดยุคความคิดที่ว่า "เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด" หรือ "เป็นเด็กเป็นเล็กห้ามแสดงความคิดเห็นก่อนผู้ใหญ่" ได้แล้ว
ไม่เช่นนั้นต้องมาถามว่า “ทักษะการแก้ปัญหาของเด็กหายไปไหน” กันร่ำไป
และคำตอบที่เจ็บปวดจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจาก “หายไปกับความไม่อาจเป็นแบบอย่างที่ดี” ของพ่อแม่ผู้ปกครอง !