xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบอดีต พนง.รัฐ สธ.ร่วม 100 คน บุกยื่น “หมอหนู-หมอตี๋” ช่วยเยียวยาอายุราชการหาย 4 ปี เงินเดือนเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ม็อบอดีตพนักงานรัฐ สธ.กว่า 100 คน บุกยื่น หมอหนู-หมอตี๋ วอนฝ่ายการเมืองช่วยคืนอายุราชการที่หายไป 4 ปี และเงินเดือนที่เหลื่อมล้ำจากมติ ครม. ก่อนถกร่วมเลขาฯ รมต.และรองปลัด เผยความหวังริบหรี่ เหตุเกี่ยวข้องกับ กม. ก.คลัง และ ก.พ. ด้าน สธ.ตั้ง คกก.ศึกษาจากทุกหน่วยงาน

วันนี้ (20 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น. ตัวแทนชมรมอดีตพนักงานของรัฐในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมกว่า 100 คน นำโดย นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐฯ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. เพื่อขอคืนอายุราชการช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐ และขอให้แก้ไขเงินเดือนเหลื่อมล้ำ โดยมีนายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการ รมว.สธ. นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการ รมช.สธ. และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัด สธ. รับเรื่อง จากนั้นจึงร่วมหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกในการช่วยเหลือบุคลากรกลุ่มนี้กว่า 24,063 คน

นายวัชรพงศ์กล่าวว่า จากการพูดคุยพบว่า บุคลากรที่ได้รับผลกระทบ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. จากมติ ครม.ปี 2543 ไม่ให้มีการเพิ่มการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ บุคลากรกลุ่มนี้จึงต้องเป็นพนักงานของรัฐ แต่ปี 2557 มีมติเยียวยากลุ่มลูกจ้างและพนักงานราชการที่บรรจุใหม่ ทำให้รุ่นน้องได้รับค่าตอบแทนมากกว่ารุ่นพี่ และ 2. ขอให้เยียวยาคืนอายุราชการที่หายไปในช่วง 4 ปีของกลุ่มพนักงานของรัฐ เพื่อให้ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญตามสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ ซึ่งจากการหารือเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ สธ.เท่านั้น ยังเกี่ยวข้องและเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ด้วย จึงได้มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาทั้ง 2 เรื่อง และหาทางออกเรื่องนี้ โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.เป็นประธาน นพ.ไพศาล และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และ ก.พ.เข้าร่วม ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

“รมว.สธ.และ รมช.สธ.มีความเป็นห่วง กำชับให้ดูแลเรื่องนี้อย่างดีที่สุด เพราะบุคลากรทั้งหมดคือพี่น้องของกระทรวง เพียงแต่จะหาทางออกอย่างไร ต้องมาคุยกันก่อน เนื่องจากยังมีเรื่องระเบียบของ ก.พ.ที่ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไร หากจะเยียวยาช่วยเหลือบุคลากรกลุ่มนี้กว่า 2 หมื่นคน จะต้องใช้เงินประมาณหมื่นล้านบาท เบื้องต้นจากการพูดคุยตัวแทนชมรมฯ ก็เข้าใจดีว่าประเด็นข้อเรียกร้องไม่ใช่แค่ สธ.จะมีอำนาจฝ่ายเดียว แต่เราจะช่วยเหลือให้ดีที่สุด” นายวัชรพงศ์กล่าว

นพ.ไพศาลกล่าวว่า สธ.มีการติดตามและสอบถามไปทางกระทรวงการคลัง และ ก.พ.หลายครั้ง ล่าสุด ก.พ.ทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 ระบุว่า การจะนับอายุราชการจะนับที่เริ่มต้นของการเป็นข้าราชการ จุดนี้เราคงต้องมาหาทางออกว่าจะมีหนทางไหนช่วยเหลือได้บ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ สธ.จะทำแผนออกจาก ก.พ.เพื่อวางกรอบกำลังเองหรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า เป็นเรื่องของนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องดูว่าผู้บริหารจะมีนโยบายอย่างไร แต่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาถือเป็นครั้งแรกที่มีการหารือร่วมกันระหว่าง สธ. กระทรวงการคลัง และ ก.พ. จากก่อนหน้านี้จะหารือแยกหน่วยงาน

ด้านนายมานพกล่าวภายหลังหารือว่า ตนและผู้แทนอดีตพนักงานของรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2543-2546 มีจำนวน 24,063 คน มาขอความช่วยเหลือนายอนุทิน และนายสาธิต ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนจากหลักเกณฑ์เยียวยา ก.พ.หนังสือที่ นร 1012.2/250 ในปี 2557 ซึ่งทำให้ข้าราชการรุ่นน้องที่บรรจุภายหลังมีเงินเดือนมากกว่ารุ่นพี่ และประเด็นการขอคืนอายุราชการ โดยขอให้ผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อออกเป็นมติในการช่วยเหลือ หากทำได้จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่าง ก.พ.ยอมแก้ไขระเบียบและคืนความเป็นธรรมให้พวกตน

“จากการหารือรู้สึกความหวังริบหรี่มาก แทบจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อพูดถึงกฎหมายก็จะยาก จึงต้องขอความเห็นใจจากฝ่ายการเมือง และท่านนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือพวกเรา เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ มติ ครม.ก็ต้องแก้ไขที่มติ ครม. เนื่องจาก ครม.ให้การเยียวยาเมื่อปี 2557 แต่ให้เฉพาะกลุ่มรุ่นน้องที่ทำงานหลัง ธ.ค. 2555 แต่ไม่ถึงรุ่นปี 2543-2546 ซึ่งกลุ่มนี้มีกว่า 2 หมื่นคน ทำให้เราขาดอายุราชการไป 4 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ก.พ.เคยบอกว่าที่ไม่นับรวมพวกเรา เพราะเราเป็นพนักงานของรัฐซึ่งมีสิทธิประโยชน์เทียบเท่าข้าราชการ แต่ทำไมกลับไม่ย้อนหลังเรื่องอายุราชการ ทำให้เราขาดไป 4 ปี มีผลต่อเงินบำเหน็จบำนาญ อย่างแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักรังสี ฯลฯ ที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หากเกษียณจะได้เงินบำนาญไม่ถึงหมื่นบาท ขณะที่รุ่นน้องที่ได้รับการเยียวยาจะได้ประมาณ 2 หมื่นบาท ซึ่งต่างกันมาก แม้วันนี้จะเหมือนไม่ได้คำตอบชัดเจน แต่เราก็ไม่ย่อท้อจะสู้ต่อไป” นายมานพกล่าว

นพ.กฤษ ใจวงค์ ผอ.รพ.สันติสุข จ.น่าน กล่าวว่า จากการพูดคุยและได้รับฟังคำตอบดูจะเป็นเรื่องยุ่งยาก และความหวังดูจะริบหรี่ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะไปให้คำตอบสมาชิกที่มาเรียกร้อง เพราะหากพูดถึงระเบียบกฎหมายต่างๆ ก็ค่อนข้างยาก แต่ก็มีความหวังเพียงฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นสะสมมานาน อย่างปัจจุบันเท่าที่ทราบมีแพทย์ที่ได้รับผลกระทบกว่า 100 คน แต่ติดต่อได้ประมาณ 70 คน ซึ่งก่อนหน้านี้มีแสดงความจำนงว่าอยากลาออกประมาณ 50% เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องขวัญกำลังใจที่หากไม่มีช่วยเหลือ คงเกิดไหลออกนอกระบบอีกมาก




















กำลังโหลดความคิดเห็น