xs
xsm
sm
md
lg

ที่มาภาพหลุด-คลิปหลุด “โจ๋ไทย” สำรวจพบ 2% เคยถ่ายส่งให้คนอื่น ห่วง 31% ถูก Cyber Bullying

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมเด็กเปิดผลโพล พบ เด็กไทย ถูก Cyber Bullying 31% กลุ่มเพศทางเลือกโดนมากสุด กว่า 40% ไม่บอกใครว่าถูกรังแก ห่วงต้งทนทุกข์อาจถึงขั้นซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือบางส่วนอาจไม่ให้ค่า 74% พบเห็นสื่อลามก 2% เคยถ่ายรูปหรือคลิปโป๊ตัวเองส่งให้คนอื่น

วันนี้ (19 ส.ค.) นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กรมฯ โดย ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ โคแพท (COPAT - Child Online Protection Action Thailand) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ เมื่อ ก.พ.-เม.ย. 2562 ในประชากรอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คนจากทั่วประเทศ พบว่า เด็กเกือบทั้งหมดเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ แต่ก็ตระหนักเรื่องภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็ก 86% เชื่อว่าตนสามารถให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบภัยออนไลน์ได้ ขณะที่ 54% เชื่อว่าเมื่อเกิดกับตนเองสามารถจัดการปัญหานั้นได้

นายอนุกูลกล่าวว่า เด็กมากกว่า 83% ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน ใช้เพื่อพักผ่อน/บันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เป็นหลัก ถึง 67% ขณะที่เด็ก 39% ใช้อินเทอร์เน็ต 6-10 ชั่วโมงต่อวัน และ 38% เล่นเกมออนไลน์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการใช้มากเกินไปเสี่ยงต่อการเสพติดเกมและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต นอกจากนี้ พบว่า เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ เพศทางเลือกโดนมากที่สุด คือ 49% เด็ก 40% ไม่ได้บอกใครเกี่ยวกับเรื่องที่โดนกลั่นแกล้ง หมายถึง เด็กบางส่วนอาจทนทุกข์กับเรื่องที่โดนแกล้ง หรือบางส่วนอาจไม่รู้สึกหรือไม่ได้ให้ค่ากับคนที่แกล้ง

เด็ก 34% เคยกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นทางออนไลน์ ซึ่งส่วนหนึ่งบอกว่าเป็นการโต้ตอบที่ตนเองโดนแกล้ง การกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ สร้างความทุกข์ เจ็บปวด เก็บกด หดหู่ บาดแผลทางใจให้กับเด็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกาย ทำให้นอนไม่หลับ เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นโรคหวาดระแวง ใช้สุราหรือสารเสพติด อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายได้ พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู ควรหมั่นสังเกตอาการเด็กแล้วเข้าช่วยเหลือโดยเร็ว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของเด็กอีกประเดี๋ยวคงผ่านไป เพราะภาพหรือคลิปวิดีโอบนโลกออนไลน์นั้นจะวนเวียนทำร้ายเด็กไม่สิ้นสุด เด็ก 74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ 50% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก 6% เคยครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เคยส่ง ส่งต่อ หรือแชร์ สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เด็ก 2% ยอมรับว่าเคยถ่ายภาพหรือวิดีโอตนเองในลักษณะลามกอนาจารแล้วส่งให้คนอื่นๆ ด้วย

เด็ก 26% เปิดอ่านอีเมลหรือคลิก link ที่ไม่รู้จัก 34% ให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ภาพถ่ายของตัวเองหรือครอบครัวผ่านสื่อออนไลน์ 35% เคยถ่ายทอดสดหรือ live ในขณะที่ 69% แชร์โลเคชันหรือเช็กอินสถานที่ต่างๆ ที่ไป พฤติกรรมเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่อาจนำภัยอันตรายมาถึงตัว

เด็ก 1 ใน 4 ที่ตอบแบบสอบ หรือ 25.4% เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง และยอมรับว่าถูกเพื่อนที่นัดพบกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างต่อไปนี้ พูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ 5.1% หลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์สินอื่นๆ 2.1% ละเมิดทางเพศ 1.9% ทุบตีทำร้ายร่างกาย 1.7% และ ถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วนำไปประจาน และ/หรือ ข่มขู่เรียกเงิน 1.3%

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ได้ออกมาตรการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ เป็นกรณีเร่งด่วน เนื่องจากข้อมูลจากการสำรวจที่มาจากเด็กและการติดตามสถานการณ์ผ่านสื่อในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นข้อมูลที่ยืนยันว่าเราจะต้องจริงจังกับมาตรการป้องกันและช่วยเหลือเด็กให้มากยิ่งขึ้น โดย COPAT ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้จัดทำ “แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์” หรือ Child Online Protection Guideline ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนัก รูปแบบของภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน การรับมือกับ Cyber bullying การป้องกันเด็กติดเกม แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล ซึ่งต้องติดอาวุธ “รู้เท่าทันสื่อ” และ “ความฉลาดทางดิจิทัล” หรือ DQ ให้เด็ก หวังให้ทุกบ้านมีไว้ใช้ดูแลบุตรหลานในยุค 4.0 ดาวน์โหลดฟรี ได้ที่ facebook COPATcenter และ คิวอาร์โค้ด



กำลังโหลดความคิดเห็น