xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จิตเวชโคราช เปิดศูนย์แนะนำติดตามผลใช้ "กัญชา" ในผู้ป่วยจิตเวช ลุยลดแออัดด้วยระบบเทเลเมดิซีน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เปิดศูนย์ให้คำแนะนำ ติดตามผลจากการใช้กัญชาในผู้ป่วยจิตเวชพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง หลังพบผู้ป่วยทางจิตจากกัญชาร้อยละ 70 มีประวัติใช้เพื่อความบันเทิง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เตรียมขยายผลเป็นศูนย์วิจัยกัญชาระดับเขตสุขภาพ สร้างความปลอดภัยประชาชน เดินหน้าลดความแออัด โดยใช้ระบบเทเลเมดิซีน เชื่อมโยงเรือนจำ รพ.ชุมชน ผู้ป่วยพบแพทย์เฉพาะทาง ตรวจรักษาผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ รับยาที่รพ.ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปที่รพ.จิตเวชฯ  

วันนี้ (17 ส.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางมาตรวจเยี่ยม รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อติดตามนโยบายการดูแลจัดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยทางจิตอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อลดความแออัด และลดเวลารอคอย

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้นำเสนอบรรยายสรุปผลการดำเนินการของรพ.จิตเวชฯ ว่าเป็นรพ.เฉพาะทางรักษาผู้ป่วยที่เจ็บป่วยทางจิตที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน ที่ส่งตัวมาจากรพ.เครือข่ายที่อยู่ในเขตสุขภาพที่9 หรือเขตนครชัยบุรินทร์ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างคือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 320 คน โดยได้ใช้เทคโนโลยีคือระบบคิวอัตโนมัติ เพื่อช่วยยืนยันเวลาที่ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์ตามกำหนด และลดขั้นตอนการให้บริการให้สั้นลงจาก 12 ขั้นตอน เหลือเพียง 6 ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ผลดำเนินการในรอบ 7 เดือน พบว่าด้านจำนวนผู้ป่วยที่ใช้บริการรายวันไม่เปลี่ยนแปลง ระยะเวลาในการพบแพทย์ลดจากเดิม 70 นาที เหลือเพียง 30 นาที ในระหว่างที่รอพบแพทย์ รพ.ได้จัดกิจกรรมดูแลฟื้นฟูทางด้านจิตใจและสังคมต่างๆที่จำเป็นให้ผู้ป่วยด้วย เป็นการใช้เวลารอคอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยและญาติไปในตัว ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็ว ทำให้ความพึงพอใจสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 96 เพิ่มเป็นร้อยละ98 

นพ.กิตต์กวี กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ2563 นี้ รพ.จิตเวชได้เตรียมใช้เทคโนโลยีเพิ่ม คือระบบเทเลเมดิซีน ( Telemedicine) มาช่วยลดความแออัด และอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้ที่มีปัญหาทางจิตและมีอาการรุนแรงได้พบแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งระบบนี้มีความชัดเจนมากทั้งภาพและเสียง ผู้ป่วยจะเดินทางไปรพ.จิตเวชฯเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ในระยะแรกจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเรือนจำในพื้นที่นครชัยบุรินทร์ รพ.ชุมชนกว่า 80 แห่ง รวมทั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความพร้อม โดยผู้ป่วยสามารถรับยารักษาที่รพ.ชุมชนใกล้บ้านได้เลย ส่วนในระยะต่อไปจะขยายลงสู่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต.ที่มีความพร้อม เพื่อดูแลผู้ป่วยในระดับชุมชน หมู่บ้าน ทั้งรายเก่าที่อยู่ในระบบการรักษาต่อเนื่อง และรายใหม่ที่ค้นหาเพิ่มด้วย 

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ในส่วนมาตรการรองรับนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้น ขณะนี้แม้ว่ายังไม่มีการใช้น้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วยจิตเวชก็ตาม แต่จะต้องวางแผนความพร้อมเพื่ออนาคต โดยเฉพาะทางด้านวิชาการในระดับพื้นที่เพื่อสร้างความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ป่วย จากการติดตามผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้กัญชาที่มารับการรักษา ที่รพ.จิตเวชฯ ซึ่งพบเดือนละ 3-4 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยกลุ่มวัยรุ่นที่สูบกัญชาเพื่อความบันเทิง อีกร้อยละ 30 เป็นกลุ่มวัยกลางคนที่ใช้สารสกัดจากน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรค  จึงได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำและติดตามผลจากการใช้กัญชาในผู้ป่วยจิตเวช เพื่อติดตามถึงประโยชน์และโทษจากการใช้กัญชาในผู้ป่วยจิตเวช และให้คำปรึกษาในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาในการรักษาโรค ดำเนินการโดยเภสัชกรเพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถใช้กัญชาในการรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย และในอนาคตรพ.จิตเวชฯจะเปิดศูนย์ในการศึกษาวิจัยการใช้กัญชาเพื่อพัฒนามาตรฐานทางวิชาการทางการแพทย์ ในระดับพื้นที่คือเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ ทั้งนี้รพ.จิตเวชฯได้เตรียมเชื่อมต่อระบบบริการคำปรึกษาแก่แพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย นำร่องในรพ.ที่ให้บริการรักษาด้วยนำมันกัญชา 2 แห่ง ในเขตสุขภาพคือรพ.บุรีรัมย์และรพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและกรมสุขภาพจิต คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2562เป็นต้นไป





กำลังโหลดความคิดเห็น