xs
xsm
sm
md
lg

กสศ.โชว์ผลวิจัย สอนแบบ OECD ช่วย นร.ไทยมีความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลก จ่อขยายอีก 400 โรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสศ. โชว์ผลวิจัยในเวทีโลก พบทดลองสอน นร.ไทย โดยระบบ OECD ช่วยมีทักษะความคิดสร้างสรรค์เยี่ยม ไม่แพ้ชาติใดในโลก พัฒนาได้ทุกกลุ่มทั้งเด็กมีฐานะหรือยากจน สพฐ. เตรียมขยายผลต่อ 400 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2562

วันนี้ (16 ส.ค.) ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ในเวทีการประชุมเครือข่ายสมาคมการวิจัยด้านการศึกษาโลกประจำปี 2019 (WERA 2019) ที่ ม.โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5-8 ส.ค. ที่ผ่านมา “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้รับคัดเลือกให้เป็นงานวิจัยหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ที่ได้นำเสนอในงานดังกล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าว ดำเนินการในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนไทยกว่า 5,000 คน และครูมากกว่า 200 คน จาก 200 โรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. อปท. และ สช. ทั่วประเทศ ระหว่างปีการศึกษา 2559-2561 พบว่า นักเรียนไทยกลุ่มทดลองที่ครูได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ OECD และใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์จาก OECD เป็นเวลา 1 เทอม มีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้น โดยเฉพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์แบบอเนกนัย (Divergent Thinking) ในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีพัฒนาการสูงที่สุด ซึ่งบางชั้นเรียนในระดับ ม.ต้นของโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. มีระดับของพัฒนาการทักษะดังกล่าวสูงสุดใน 11 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มมีปฏิสัมพันธ์ด้านการศึกษากับผู้ปกครองที่ดีขึ้น และหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนมากขึ้น

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่อธิบายความแตกต่างในระดับพัฒนาการของนักเรียน คือ ความสัมพันธ์และทัศนคติระหว่างครู นักเรียน และผู้บริหารสถานศึกษา โดยครูต้องมีความรู้ความเข้าใจในศักยภาพและข้อจำกัดของผู้เรียนรายบุคคล ใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Functioning Classroom ที่เป็นแบบ Active Learning ใช้กระบวนการประเมินตามสภาพจริง มาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในการสอนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของครู และครูเชื่อว่าผู้เรียนสามารถพัฒนาได้จริง และผู้บริหารสถานศึกษาให้การสนับสนุนการทำงาน

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ความสำเร็จในการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นกับทั้งนักเรียนในระดับประถมศึกษาที่มาจากครอบครัวที่รายได้ปกติและครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่ผลดังกล่าวมีระดับที่ลดลงในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาส จึงอาจสรุปได้ว่า ทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนไทยในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักได้คะแนน PISA เฉลี่ยต่ำที่สุด สามารถพัฒนาได้จริงไม่แพ้ประเทศอื่นๆ รวมถึงนักเรียน “ช้างเผือก” หรือนักเรียนที่มีเศรษฐสถานะต่ำที่สุดร้อยละ 25 ของประเทศ แต่ทำคะแนน PISA ได้อยู่ในกลุ่มคะแนนสูงสุดร้อยละ 25 ของโลก ซึ่งอยู่ในสัดส่วนราวร้อยละ 3 ในกลุ่มตัวอย่างของประเทศไทย

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ข้อค้นพบนี้มีนัยเชิงนโยบายที่สำคัญทั้งต่อการปฏิรูประบบการศึกษาในมิติคุณภาพ และมิติความเสมอภาคต่อผู้เรียนทุกคนในระบบการศึกษา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วระบบการศึกษาไทยสามารถผลิตนักเรียนบางกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูงไม่แพ้ใครในโลก ทั้งนักเรียนที่มาจากครอบครัวทั่วไป หรือนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน โดยปัจจุบัน สพฐ. และ กสศ. กำลังวางแผนร่วมกันในการขยายผลจากการวิจัยร่วมกับ OECD นี้สู่สถานศึกษาอีก 400 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3 จังหวัด (สตูล ระยอง ศรีสะเกษ) เพื่อเป็นกลไกในการขยายผลการดำเนินงานในระดับประเทศต่อไป

ด้าน Dr.Stephan Vincent-Lancrin ผู้อำนวยการโครงการวิจัย Fostering Creative and Critical Thinking Skills in Education องค์การ OECD กล่าวว่า ความสำเร็จจากผลการวิจัยในโครงการนี้ทำให้องค์การ OECD และประเทศสมาชิกมีความมั่นใจมากขึ้นว่าทักษะความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาได้ภายใต้ความหลากหลายของระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ คณะกรรมการบริหารโครงการ PISA จึงมีมติให้มีการเพิ่มการสอบ PISA ด้านความคิดสร้างสรรค์ในการสอบ PISA ครั้งถัดไปในปี 2021 นี้ โดยองค์การ OECD จะดำเนินการเผยแพร่องค์ความรู้และเครื่องมือที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ให้แก่ทุกประเทศที่สนใจจะนำไปใช้สนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไป หลังการแถลงผลรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ องค์การ OECD มีกำหนดจัดประชุมสัมมนาและแถลงข่าวผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ของโครงการนี้อย่างเป็นทางการ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรในสิ้นเดือนกันยายน 2562 นี้ ซึ่งจะมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักการศึกษาชั้นนำ และผู้บริหารภาคเอกชนระดับโลกเข้าร่วมมากกว่า 100 คน จากหลายสิบประเทศ มาร่วมกันเสวนาผลการวิจัยและนัยเชิงนโยบายต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต









กำลังโหลดความคิดเห็น