xs
xsm
sm
md
lg

กรมแพทย์แผนไทยรับมอบ "กัญชา" จาก ป.ป.ส. จ่อผลิต "น้ำมันเดชา" ใช้ 12 รพ.พร้อม "ยาศุขไสยาศน์" 1 ก.ย.นี้ ก่อนดันเข้าบัญชียาฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมแพทย์แผนไทย รับมอบ "กัญชาของกลาง" 1 ตันจาก ป.ป.ส. จ่อผลิต "น้ำมันเดชา" เดือนละแสนขวด เตรียมใช้ใน 12 รพ.ด้านแพทย์แผนไทย พร้อมตำรับ "ศุขไสยาศน์" ที่ช่วยนอนหลับ เจริญอาหาร วันที่ 1 ก.ย.นี้ เล็งเสนอโครงการวิจัย "น้ำมันเดชา" เข้าบัญชียาหลักฯ วันที่ 19 ส.ค.นี้ พ่วง 3 ตำรับยากัญชาแผนไทย

วันนี้ (16 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ส่งมอบกัญชาแห้งของกลางที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวน 1,005 กิโลกรัมให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมี นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ และนายอรัญ หนันขัติ ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้รับมอบ

นายนิยม กล่าวว่า ป.ป.ส.พร้อมสนับสนุนของกลางกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการรักษาโรค เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ซึ่งการมอบกัญชาของกลางในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.กรมการแพทย์แผนไทยฯ ซึ่งขอเข้ามาจำนวน 1,000 กิโลกรัม เพื่อผลิตน้ำมันกัญชา และ 2.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอจำนวน 5 กิโลกรัม เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับการส่งมอบกัญชาของกลางที่ผ่านมา ป.ป.ส.ได้มอบให้แก่ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และคณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรร์มหาวิทยาลัย รวมกับการส่งมอบในครั้งนี้อรก 2 หน่วยงาน รวมทั้งหมดเป็น 5 หน่วยงาน 1,684 กิโลกรัม

นายนิยม กล่าวว่า ป.ป.ส.ยังมีกัญชาของกลางอยู่อีกเกือบ 20 ตัน ซึ่งจะมีการตรวจพิสูจน์ถึงความปลอดภัย หากสามารถนำไปใช้งานทางการแพทย์ได้ก็ยินดีสนับสนุน ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 10 หน่วยงานที่ยื่นขอสนับสนุนของกลางอยู่ คือ ม.มหาสารคาม 50 กก. คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล 30 กก. ม.ขอนแก่น 300 กก. ม.รังสิต 500 กก. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ 1,000 กก. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ 9 กก. สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทยื 1,000 เมล็ด สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยฯ เมล็ด 2 กก. รพ.มะเร็งอุดรธานี และ กลุ่มวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 กก.

นพ.มรุต กล่าวว่า กัญชาของกลางจำนวน 1 พัน กก. แม้จะมีแคดเมียมปน แต่มีกระบวนการที่เรียกว่า เทคนิคซูเปอร์คริติคัลฟูอิด ในการแยกแคดเมียมออกมา จึงสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ โดยทั้งหมดจะนำมาใช้ในการผลิตน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หรือ "น้ำมันเดชา" เมื่อผลิตเสร็จแล้วจะตรวจว่ามีแคดเมียมเกินมาตรฐานหรือไม่อีกครั้ง โดยคาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 6 แสนกว่าขวด เฉลี่ยเดือนละประมาณ 1 แสนขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร เป็นน้ำมันกัญชา 3% ผสมน้ำมันมะพร้าว สำหรับการนำไปใช้ในผู้ป่วย เนื่องจากยังเป็นยาที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน (Un Approve Drug) ก็จะใช้ในรูปแบบที่เรียกว่า สเปเชียล แอคเซส สครีม (SAS) ที่ต้องมีการเก็บข้อมูลวิจัยไปด้วย

นพ.มรุต กล่าวว่า น้ำมันเดชา ส่วนหนึ่งจะมอบให้นายเดชาใช้รักษาผู้ป่วยของตนเอง และที่เหลือจะกระจายไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แผนไทย จำนวน 12 แห่ง ใน 12 เขตสุขภาพ เริ่มใช้ดูแลผู้ป่วยในวันที่ 1 ก.ย.นี้ พร้อมกับตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย "ศุขไสยาศน์" ที่มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร ซึ่งผลิตแล้วจากของกลาง 7 กก. ประกอบด้วย 1.รพ.เด่นชัย จ.แพร่ 2.รพ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก 3.รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี 4.รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี 5.รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม 6.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี 7.รพ.พล จ.ขอนแก่น 8.รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร 9.รพ.สูงเนิน จ.นรราชสีมา 10.รพ.พนา จ.อำนาจเจริญ 11.รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี และ 12.รพ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลที่มีโรงงานผลิตยาแผนไทยที่ผ่านมาตรฐานจีเอ็มพี และมีแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันในการดูแลผู้ป่วย

"ทั้งน้ำมันเดชาและศุขไสยาศน์ จะเป็นการวินิจฉัยแบบแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และติดตามว่ามีผลข้างเคียงหรือไม่อย่างไร มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างไร อาการดีขึ้นจากที่บอกหรือตรวจพบอย่างไร แต่ในส่วนของน้ำมันเดชาจะร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน ดูแลผู้ป่วยที่มารับน้ำมันเดชาด้วย" นพ.มรุต กล่าว

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับมอบรายชื่อผู้ป่วยของ อ.เดชามาแล้ว 2.9 หมื่นราย เมื่อได้ครบก็จะนำมาดูว่าอยู่ในพื้นที่ไหนอย่างไร เพื่อให้ไปรับบริการใกล้ที่สุดจาก 12 โรงพยาบาล และอนาคตเมื่อขยายบริการจนครบทุกจังหวัดได้ ก็จะให้ไปรักษาในจังหวัดของตนเองได้เลย ส่วนที่ต้องให้รักษาทั้ง 39 โรคเดิมตามที่ อ.เดชาเคยรักษานั้น ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง ก็จะนำมาแยกว่า โรคไหนเข้ากับแพทย์แผนไทย ก็จะให้แพทย์แผนไทยเป็นผู้วินิจฉัย สั่งใช้ และติดตามอาการ ส่วนโรคไหนที่ไม่เข้ากับแพทย์แผนไทย ก็จะมีแพทย์แผนปัจจุบันในการดูแลให้คำแนะนำและติดตามอาการ ซึ่งมีการประสานร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาช่วยในการติดตาม

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ส่วนการผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติและสิทะหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เบื้องต้นจะผลักดัน 4 ตำรับยา คือ 1.น้ำมันเดชา ซึ่งวันที่ 19 ส.ค.จะเสนอโครงร่างวิจัยต่อคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ว่าหากจะเก็บข้อมูลเพื่อเสนอเข้าบัญชียาหลักฯ สามารถทำได้ มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งข้อบ่งใช้ที่จะเสนอเพื่อวิจัย คือ การบรรเทาอาการปวดศีรษะข้างเดียว (ลมปะกัง) อาการปวด ชัก สั่น ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร ผ่อนคลาย 2.ยาศุขไสยาศน์ ช่วยให้นอนหลับเจริญอาหาร 3.ยาทำลายพระสุเมรุ แก้ลมจุกเสียด ลมเมื่อยขบในร่างกาย ลมเปลี่ยวดำ ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต และ 4.ยาทัพยาธิคุณ แก้กร่อนที่ทำให้จุกเสียด เจ็บเมื่อยขบในร่างกาย กินอาหารไม่รู้รส นอนไม่หลับ ซึ่งในส่วนของยาแผนไทยทั้ง 3 ตำรับนี้ เนื่องจากมีการใช้มานานและอยู่ในตำรา จึงไม่ต้องเสนอร่างวิจัยแบบน้ำมันเดชา แต่เก็บข้อมูลผู้ป่วยให้ได้จำนวนหนึ่งเพื่อเสนอประสิทธิภาพประสิทธิผล อย่าไรก็ตาม คาดว่าทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก็น่าจะได้ข้อมูลเพื่อเสนอเข้า คกก.บัญชียาหลักฯ ได้









กำลังโหลดความคิดเห็น