เอ็นจีโอ หนุน "อนุทิน" ต้องไม่มีร่วมจ่ายบัตรทอง เหตุทุกคนร่วมจ่ายก่อนป่วยผ่านการเสียภาษีอยู่แล้ว ห่วงตัดงบรายหัวไม่ได้ตามที่เสนอ ทำ รพ.ลำบาก สุดท้ายมาเรียกเก็บค่าอุปกรณ์
วันนี้ (15 ส.ค.) นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันสิทธิบัตรทองจะไม่มีการร่วมจ่ายในรัฐบาลนี้ ว่า ประชาชนมีการร่วมจ่ายก่อนรับบริการแล้ว คือ การจ่ายภาษี แต่โจทย์ใหญ่ คือ งบเหมาจ่ายรายหัวไม่ได้เท่าที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ซึ่งการเสนองบประมาณขาขึ้นนั้นผ่านการคิดคำนวณมาอย่างดีแล้วว่า จะต้องใช้งบประมาณเท่าไร แต่ก็จะมีกระบวนการต่อรอง ยกตัวอย่าง เสนอขึ้นไป 5 พันบาท แต่เคาะได้มาเพียง 3.6 พันบาทต่อหัวประชากร ส่วนที่ขาดไปคือสิ่งที่จำเป็น จึงเกิดเป็นภาวะยากลำบากของหน่วยบริการ เมื่อหน่วยบริการรู้สึกว่าไม่พอ ก็มีการมาเรียกเก็บประชาชน ณ จุดบริการ ซึ่งมีการร่วมจ่ายลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
"อย่างกรณีน้องที่ถูกซ้อมในค่ายปัตตานี เมื่อถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงเรียนแพทย์ ปรากฏว่ามีการเรียกเก็บค่าอาหารเหลว วัสดุอุปกรณ์การแพทย์บางอย่างที่ต้องจ่าย ถูกส่งบิลค่าใช้จ่ายเกือบๆ หมื่นบาท ทั้งทีน้องใช้สิทธิบัตรทอง จนคนเฝ้าต้องโวยว่าทำไมต้องจ่าย เพราะมีสิทธิบัตรทองที่ครอบคลุมอยู่แล้ว ลักษณะการร่วมจ่ายแบบนี้ถือเป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นทุกวัน จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาาณสุข ลงมาแก้ปัญหา" นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ขอขีดเส้นใต้ที่นายอนุทินพูดไว้ว่า จะไม่มีการร่วมจ่าย และจะใช้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะการร่วมจ่ายขณะป่วยหรือหลังป่วยนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้น เพราะมีการร่วมจ่ายก่อนป่วยอยู่แล้วผ่านการเสียภาษีอยู่แล้ว ดังนั้น การร่วมจ่ายระหว่างการป่วยจึงเป็นเหมือนการละเมิด ซึ่งเราต้องป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ ดังนั้น การเสนองบประมาณขาขึ้นของงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง จึงไม่ควรมีการตัดค่าใช้จ่ายออก เพื่อไม่ให้เกิดความยากลำบากของหน่วยบริการ