xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เริ่มบริการจ่าย "ยากัญชา" วันแรก 19 ส.ค.นี้ ใน รพ.ศูนย์ 12 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ.จัดเวิร์กชอปเตรียมพร้อมระบบบริการ "กัญชาทางการแพทย์" เตรียมเปิดให้บริการวันแรก 19 ส.ค.นี้ ใน 12 รพ.ศูนย์ หลังส่งสารสกัดกัญชาสูตรทีเอชซีสูง ย้ำใช้ในผู้ป่วยที่จำเป็น ใช้ยารักษาอื่นไม่ได้ผล หากยากัญชาครบทั้ง 3 รูปแบบ จะให้บริการ รพ.แพทย์แผนไทยด้วยอีก 7 แห่ง รวมเป็น 19 แห่ง

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาการแพทย์ (เวิร์กชอป) โดยมี ผู้บริหาร สธ. และนักวิชาการ เช่น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศษสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เป็นต้น เข้าร่วมประชุม

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า วันนี้ สธ.จัดทำเวิร์กชอปเรื่องของกัญชาเสรีทางการแพทย์ โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้แก่บุคลากรและความคิดเห็นถึงการใช้ยากัญชาอย่างปลอดภัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ประชาชนที่เจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องใช้ยากัญชาจะได้รับความปลอดภัย ทั้งนี้ ยากัญชามีอยู่ 3 แบบ คือ 1.สารสกัดกัญชาทางแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีสูตรทีเอชซี ซีบีดี และสูตรหนึ่งต่อหนึ่ง 2.น้ำมันกัญชาที่สกัดจากน้ำมันมะพร้าว และ 3.ยาแพทย์แผนไทยที่เห็นชอบแล้ว 16 ตำรับ ซึ่งการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ สธ.วางไว้ 19 โรงพยาบาล แบ่งเป็น รพ.ศูนย์ด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน 13 แห่ง และโรงพยาบาลด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่ง โดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้บริการทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย

นพ.สุขุม กล่าวว่า ทั้งนี้ การเวิร์กชอปมีการแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นกันในแต่ละเรื่อง คือ 1.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์แบบผสมผสาน 2.การปลูก การผลิต การกระจาย (supply chain) ที่ต้องเพียงพอ 3.ระบบบริการการแพทย์แผนปัจจุบัน 4.การกำกับดูแลด้านกฎหมาย 5.กลไกการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ และ 6.การจัดการความรู้สื่อสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ถือเป็นการระดมความคิดเห็น ดูแนวทางปฎิบัติ ซักซ้อมความเข้าใจ เพื่อรองรับการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งวางแผนว่าในวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.นี้ จะเริ่มเปิดบริการ ซึ่งจะเริ่มจากสารสกัดกัญชาสูตรทีเอชซีที่ สธ.รับมาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 4,500 ขวด โดยแบ่งให้กรมการแพทย์ 600 ขวด และโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง แห่งละประมาณ 350 ขวดก่อน ตรงนี้ถือเป็นเสรีทางการแพทย์ โดยย้ำว่าต้องเป็นผู้ป่วยมารับและมีความจำเป็น ใช้ยารักษาวิธีอื่นไม่ได้ผลแล้ว โดยจะมีแพทย์ตรวจตามมาตรฐาน ซึ่งแพทย์และเภสัชกรที่จะดูแลเรื่องนี้ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมการแพทย์ ซึ่งไม่มีการเสียเงินใดๆ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเปิดบริการสวยด่วยให้คำปรึกษากัญชา 1665 มีการเปิดให้บริการทั้ง 12 เขตสุขภาพ และโรงพยาบาลสังกัดกรมฯ 31 แห่ง นกจากนี้ กรมฯ ยังให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันประสาทวิทยา ลงทะเบียนผู้ป่วยเพื่อศึกษาวิจัย โดยสถาบันมะเร็งฯ มีผู้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 - 8 ส.ค. รวม 2,000 กว่าราย แต่เข้าเกณฑ์จริงๆ ประมาณ 200 กว่าราย ทั้งนี้ เมื่อได้สารสกัดกัญชา สูตรซีบีดีและสูตรหนึ่งต่อหนึ่งจาก อภ.ครบภายในสิ้นเดือนนี้ ก็จะนำมาทดลองใช้เพื่อดูระยะยาวต่อไป สำหรับการทดลองสารสกัดกัญชาทีเอชซีสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองนั้น คาดว่า 2-3 สัปดาห์น่าจะทราบผล

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีผู้ป่วยมะเร็ง จ.อุบลราชธานี ที่บอกว่าหยดกัญชาแล้วดีขึ้น ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยคนไข้ใช้สารสกัดกัญชามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วยในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้กินข้าวได้ นอนหลับดี แต่ไม่ช่วยรักษามะเร็ง มิเช่นนั้นคนไข้จะไม่ตาย อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยมีการเพิ่มขนาดน้ำมันกัญชาขึ้นเรื่อย จากทีละหยด 2 หยด เพิ่มเป็น 20 หยด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเวิร์กชอป ได้มีการทำพิธีมอบสารสกัดกัญชาสูตรทีเอชซีสูงให้แก่ รพ.ศูนย์ทั้ง 12 แห่ง เพื่อนำไปใช้บริการคนไข้ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 19 ส.ค.นี้ โดย รพ.ศูนย์ 12 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.ลำปาง 2.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 4.รพ.สระบุรี 5.รพ.ราชบุรี 6.รพ.ระยอง 7.รพ.ขอนแก่น 8.รพ.อุดรธานี 9.รพ.บุรีรัมย์ 10.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี 11.รพ.สุราษฎร์ธานี และ 12.รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำหรับโรงพยาบาลที่จัดบริการการแพทย์แผนไทย ได้แก่ 1.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี 2.รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี 3.รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม 4.รพ.เด่นชัย จ.แพร่ 5.รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร 6.รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และ 7.รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี







กำลังโหลดความคิดเห็น