xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" กำชับทุก รพ.สื่อสารญาติ ล้างความเชื่อบริจาคอวัยวะ เกิดมาชาติหน้าไม่สมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ.ร่วมสภากาชาดไทย พัฒนาระบบบริการปลูกถ่ายอวัยวะ ให้ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปเป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะ พัฒนาทีมผ่าตัดนำไตออกเขตละ 1 ทีม "อนุทิน" เผยรัฐไม่ต้องลงทุนซื้อ ฮ. เพราะมีจิตอาสาที่ขับเครื่องบินได้พร้อมช่วยขนส่ง แต่ต้องเพิ่มจำนวนผู้บริจาค ทำความเข้าใจญาติเป็นการสร้างกุศล ล้างความเชื่อชาติหน้าไม่สมบูรณ์

วันนี้ (14 ส.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรางสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เนื้อเยื่อ และดวงตา ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสภากาชาดไทย โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.และ ศ.กิตติคุณ นพ.ศักดิ์ชัย ลิ้มทองกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย

นายอนุทิน กล่าวว่า การปลูกถ่ายอวัยวะ เนื้อเยื่อ และดวงตา เป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ลดความพิการ ให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิต ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้รอรับอวัยวะ 6,245 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมากถึง 5,930 ราย ส่วนผู้รอรับดวงตาประมาณ 12,964 ราย แต่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ปีละประมาณ 500-700 ราย และปลูกถ่ายกระจกตาได้เพียง 700-800 ราย สธ.จึงร่วมมือกับสภากาชาดไทย โดยให้ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะ พัฒนาทีมผ่าตัดนำไตออกส่วนภูมิภาคอย่างน้อย 1 ทีม มีศูนย์ปลูกถ่ายไตและดวงตาอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 โรงพยาบาล พร้อมจัดทำโครงการดวงตาสดใส เทิดไท้ 84 พรรษามหาราชินี เพิ่มการปลูกถ่ายกระจกตาในผู้ป่วยกระจกตาพิการ 8,400 ราย ที่จะครบกำหนด 12 ส.ค. 2564

นายอนุทิน กล่าวว่า เราพยายามที่จะเพิ่มจำนวนเคสให้มากขึ้น ให้รองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่รอ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนที่ประสบเหตุต่างๆ ที่ต้องเปลี่ยนอวัยวะได้รับการดูแลรักษาในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งในกลุ่มที่ทำเรื่องประสงค์บริจาคอวัยวะมักไม่ค่อยมีปัญหา แต่กลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุฉับพลันไม่ได้แจ้งจำนงเป็นผู้บริจาคอวัยวะไว้ ตรงนี้ตนมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ทุกเขตสุขภาพให้แจ้งไปยัง รพ.ต่างๆ ทำความเข้าใจและสื่อสารกับญาติในการขอบริจาคอวัยวะ โดยจัดทีมพูดคุยทำความเข้าใจว่า ขออวัยวะจากเขาเพื่อมาต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ สิ่งที่จะทำเป็นสิ่งที่เป็นกุศล ไม่ต้องกังวลว่าเกิดชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ ตรงกันข้ามคนที่ทำสิ่งเหล่านี้ เกิดมาชาติหน้าจะต้องเกิดอยู่ในความสะดวกสบาย ท่ามกลางบุญที่สั่งสมเอาไว้ อย่างไรก็ตาม รพ.ทำได้แค่เอ่ยปากขอ ไม่สามารถเสนอค่าตอบแทนใดๆ ได้ เพราะผิดหลักมนุษยธรรม ซึ่งสุดท้ายก็จะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

"ผมได้มอบนโยบายให้ สธ.ว่า จะทำอย่างไรถึงล้างความเชื่อโบราณว่า หากต้องบริจาคอวัยวะแล้วกลัวชาติหน้าจะเกิดมาไม่สมบูรณ์ เพราะขนาดผมไปขนอวัยวะ ก็รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำบุญ เวลาขนอวัยวะกลับมา ผมยังไม่ยอมให้หมอวางที่พื้น ต้องจับนั่งคาดเข็มขัดให้เรียบร้อย ถือว่าเป็นผู้โดยสารวีไอพี ก่อนขึ้นลงยกมือไหว้ จึงเชื่อว่าเขาต้องมีชีวิตที่ดีกว่าแน่ถ้าชาติหน้ามีจริง" นายอนุทิน กล่าวและว่า สำหรับการขอให้บริจาคอวัยวะต้องแน่ใจก่อนว่าสมองผู้ป่วยตายแล้ว โดยต้องตรวจเช็ก 2 รอบ โดยญาติต้องยินดีที่จะให้ด้วย โดยหัวใจมีเวลา 4 ชั่วโมงหลังนำออกจากร่าง ส่วนไตมีเวลา 24 ชั่วโมง ตับ 6 ชั่วโมง และปอด 8 ชั่วโมง

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับหัวใจติดปีกเป็นงานอาสาสมัคร ที่แต่ละคนมีพาหนะที่เหมาะสม สอดคล้องสถานการณ์ความต้องการอวัยวะแต่ละวันแต่ละช่วง ซึ่งทุกคนที่มีโอกาสได้รับการติดต่อก็เต็มใจที่จะทำ ซึ่งจริงๆ แล้ว สธ.และสภากาชาดไทยไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์เลย เพราะเป็นการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มเสีย แต่จิตอาสาในประเทศมีเพียงพอ เพราะเราไม่ใช่ประเทศใหญ่ ไปไหนมาไหนในรัศมี 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งบอกเลยว่าแต่คนอยากบินให้ท่าน ถ้าเราให้โอกาส ทุกคนอยากจะทำ ไม่ต้องไปลงทุนเอง เพราะการซื้อเครื่องบิน หานักบิน เรียกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องผู้ขนส่ง เพราะมีจำนวนมาก แต่ที่ต้องเพิ่มคือซัพพลายหรือผู้บริจาค





กำลังโหลดความคิดเห็น