xs
xsm
sm
md
lg

กรมแพทย์แผนไทย คาดผลิต “น้ำมันเดชา” ได้หลายแสนขวด จากของกลาง 1 พัน กก. หารือ อ.เดชาพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมแพทย์แผนไทย หารือ อ.เดชา วันที่ 9 ส.ค. จ่อผลิตน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา จากของกลาง ป.ป.ส.1,000 กิโลกรัม มั่นใจผลิตได้หลายแสนขวด เหตุผสมน้ำมันมะพร้าว ใช้น้ำมันกัญชาเพียง 3% คาดกระจายไป 19 รพ.ที่มีแพทย์แผนไทยได้ใน ต.ค.นี้ เริ่มใช้ในผู้ป่วย อ.เดชาก่อน แต่ยังต้องหารือถึงข้อบ่งใช้ เห็นด้วยหากให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านปลูกกัญชา

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมหารือกับนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เพื่อจัดเตรียมทำน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา จากกัญชาของกลางของ ป.ป.ส.จำนวน 1,000 กิโลกรัมแห้ง ว่าวันที่ 9 ส.ค.นี้จะมีการหารือกับ อ.เดชา ว่าจะนำของกลางมาผลิตน้ำมันเดชาอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามสูตรหรือใกล้เคียงกับสูตรของ อ.เดชามากที่สุด เนื่องจากใช้คนละวิธีในการผลิต และข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันเดชาว่าอยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อที่จะได้กระจายน้ำมันเดชาไปได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังรอทาง ป.ป.ส.ส่งกัญชาของกลางมาให้ซึ่งเป็นกัญชาที่ไม่มียาฆ่าแมลง แต่ปนเปื้อนโลหะหนัก แต่จะใช้เทคนิคเดียวกับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในการสกัดเอาแคดเมียมออก โดยการทำน้ำมันเดชาจะมีกองพัฒนายาไทยและสมุนไพรเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ กัญชาแห้ง 1,000 กิโลกรัม คาดว่าจะสามารถผลิตได้หลายแสนขวด เพราะสูตรของ อ.เดชานั้นเป็นสูตรผสมน้ำมันมะพร้าว สัดส่วนของน้ำมันกัญชามีเพียงแค่ 3% จึงสามารถผลิตออกมาได้จำนวนมาก

นพ.มรุตกล่าวว่า หลังจากผลิตออกมาแล้วจะต้องส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีสารโลหะหนักเกินหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือเกิดผลเสีย ถ้าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก็จะนำออกมาใช้ โดยหารือกับปลัด สธ.ว่าจะกระจายไปยังโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่งที่จะจ่ายน้ำมันกัญชาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เช่นกัน เพราะมีแพทย์แผนไทย และกระจายไปยังโรงพยาบาล 7 แห่ง ที่ผลิตยากัญชาได้ ซึ่งการใช้จะถือว่าเป็นกึ่งทดลอง เป็นสเปเชียล แอสเซส สครีม (SAS) ซึ่งต้องวินิจฉัยแบบทางแพทย์แผนไทย สั่งยาโดยแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีการติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีผลกระทบข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์

เมื่อถามว่าจะผลิตเสร็จและจ่ายให้ผู้ป่วยได้เมื่อไร นพ.มรุตกล่าวว่า หลังรับกัญชาของกลางมาก็ต้องนำสกัดเอาโลหะหนักออก ซึ่งวันหนึ่งทำได้ไม่เยอะประมาณ 10 กว่า กก.ต่อวัน เพราะเครื่องเราไม่ได้ใหญ่มาก ไม่ใช่เชิงอุตสาหกรรม ก็ต้องใช้เวลาผลิต 10-20 วัน ซึ่งคิดว่าอย่างช้าน่าจะต้นเดือน ต.ค.ที่จะกระจายไปพร้อมๆ กัน

เมื่อถามว่าจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของ อ.เดชา ก่อน นพ.มรุตกล่าวว่า ใช่ แต่อาจต้องหารือกับ อ.เดชาก่อนว่าประสงค์จะให้ใช้มากน้อยแค่ไหน อาจจะเป็น 3-5 พันคนแรกที่เคยใช้อยู่หรือไม่ เพราะที่บอกว่ามีการลงทะเบียนไว้ 3-4 หมื่นคน และใช้ใน 39 กลุ่มโรค ก็ควรมาดูก่อนว่าวรจะได้ใช้หรือไม่ เพราะมีทั้งโรคที่มีข้อบ่งใช้ชัดเจน บางส่วนยังไม่ชัดเจน ทีสำคัญ อ.เดชา ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องได้รับน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชาหรือใกล้เคียง ใช้ในทุกโรคที่เคยรักษา และต้องฟรี

ผู้สื่อข่าวถามถึงการผลิตยากัญชาของ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร นพ.มรุตกล่าวว่า ตอนนี้เริ่มผลิตแล้ว 5 ตำรับ จากกัญชาของกลางที่ไม่มียาฆ่าแมลง และแคดเมียม 7 กก. ซึ่งถูกแบ่งออกไปตรวจ 1 กก. เหลือ 6 กก. ก็ต้องพยายามกระเบียดกระเสียนในการที่จะผลิตออกมาแล้วก็เริ่มใช้ในผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยาใน 5 ตัวนี้ ก็หวังว่าที่ลงมือปลูกไปแล้วที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ถ้าเริ่มเอาใบมาใช้ก่อนก็จะอีกประมาณ 2-3 เดือน แล้วอีกสัก 4-5 เดือนก็เป็นช่อดอกออกมาจะผลิตยาออกมาได้มากขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ พยายามที่จะร่วมกับสภาเกษตรกรตั้งเป้าจะผลิตกัญชาสด 7,000 กก. ก็ต้องรีบขออนุญาตปลูก เพราะถ้าเลยช่วงฤดูฝนไปจะทำให้ได้ผลผลิตช้าและอาจไม่ได้ดีเท่าที่ควร

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านปลูกกัญชาได้ก่อน นพ.มรุตกล่าวว่า ในระดับนานาชาติก็ยังเป็นห่วงประเด็นนี้อยู่ แต่กรมฯ ก็อยากให้แพทย์แผนไทยปลูกได้ เพราะวิธีปรุงยา มีทั้งสด แห้ง ใบ ช่อดอก วิธีการปลูกก็มีตามตำรับตำรา เราก็อยากให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านปลูกได้ ซึ่งจริงๆ ก็เหมือนกับพืชพันธุ์ธัญญาหารอื่นที่ปลูกก็มีพิษเยอะแยะ แต่เราไม่ได้ไปออกกฎหมายควบคุม ถ้าไปดูพิพิธภัณฑ์ของกรมฯ ต้นมะเกลือที่ปลูกไว้ก็เป็นสมุนไพรอย่างดี ไว้ถ่ายพยาธิ แต่มีคนใช้ผิดใช้ลูกมะเกลือ ปรากฏว่าทำให้ตาบอดแล้วตายไปเยอะแยะ ดังนั้น ต้องบอกว่าคนที่จะใช้สมุนไพรของดีก็จริง แต่ต้องใช้ให้เป็น ต้องมีความรู้ กัญชาก็เหมือนกัน

ถามต่อว่ากำหนด 5 ปีต้องร่วมกับรัฐ กรมฯ จะเข้ามาช่วยอย่างไร นพ.มรุตกล่าวว่า ที่จริงแล้วเข้าใจว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไข เข้าใจว่ากำหนด 5 ปี ตรงนี้ก็อาจจะต้องปรับ เพราะดูเหมือนว่าถ้าจะให้เข้าถึงจริงๆ ก็คงจะต้องขยับตรงนี้ให้ไวขึ้น มิเช่นนั้นการเข้าถึงเองก็อาจจะไม่ง่าย และหากจะให้กรมฯ เข้าไปควบคุมการปลูกก็คงไม่ง่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น