xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” รับมอบ “น้ำมันกัญชา” ล็อตแรก 4.5 พันขวด กระจาย 12 รพ.ศูนย์ พร้อมวิจัยฆ่าเซลล์มะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อนุทิน” รับมอบ “น้ำมันกัญชา” จาก อภ. 4,500 ขวด ลั่นเป็นจุดเริ่มต้นกัญชาเสรีทางการแพทย์ เผย 3,900 ขวด กระจาย 12 รพ.ศูนย์ของ สธ. อีก 600 ขวด กรมการแพทย์ใช้วิจัยฆ่าเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ ย้ำใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ เผย ทีเอชซีใช้ในกลุ่มมะเร็งระยะสุดท้าย หากไม่ตรงข้อบ่งชี้ แต่ใช้กัญชาอยู่ก็พร้อมดูแลความปลอดภัย ด้าน อย.ทำระบบแทร็กกิ้งช่วยสแกนทุกขวดผลิตจากที่ไหน ป้องกันของใต้ดินปลอม แพทย์แผนไทย เตรียมรับของกลางผลิตน้ำมันเดชา เล็งหารือ อ.เดชา 9 ส.ค.นี้

วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ล็อตแรกจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สูตรทีเอชซีสูงจำนวน 4,500 ขวด

นายอนุทิน กล่าวว่า ขอบคุณ อภ.ที่ตอบสนองต่อนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ จนนำมาสู่การรักษาโรคในประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเพียง 3 สัปดาห์ แต่มีการวางแผนและเตรียมการกันมาก่อนแล้ว และไม่ได้ทำแบบลวกๆ เพราะมีการทำออกมา 3 สูตร คือ 1.สูตรทีเอชซี มีสีแดง ต้องมีการกำกับดูแลใกล้ชิด จำนวน 4,500 ขวด 2.สูตรซีบีดี มีสีเขียว จำนวน 500 ขวด และ 3.สูตรทีเอชซีต่อซีบีดี เป็น 1 ต่อ 1 จำนวน 1,500 ขวด รวมเป็น 6,500 ขวด โดยวันนี้ อภ.นำสูตรทีเอชซีมามอบให้จำนวน 4,500 ขวด แต่ไม่เกินสิ้นเดือน ส.ค.นี้ จะนำมามอบให้ทั้งหมด ส่วนการนำมาใช้รักษาขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ว่าโรคอะไรเหมาะที่จะใช้สูตรไหน และการใช้ภายใต้การกำกับของแพทย์จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสังคมและการเสพติด ไม่มีการมึนเมาหรือเสียชีวิต

“บางคนบอกว่า ทำไปเพื่ออะไร มอมเมาสังคม หัวเราะกันทั้งประเทศ อันนี้ไม่ใช่ นี่เป็นเรื่องของทางการแพทย์ กัญชาเสรีทางการแพทย์เริ่มนับจากจุดนี้เป็นต้นไป พวกผม 2 คน ทำตามสิ่งที่พวกผมได้สัญญากับประชาชนไว้แล้ว ซึ่งสารสกัดกัญชาของ อภ.ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความปลอดภัย มีมาตรฐานเดียว ไม่มีสารปนเปื้อน แต่ที่ออกมาช้าเพราะคำนึงถึงความปลอดภัย” นายอนุทิน กล่าวและว่า จากนี้จะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ทำความเข้าใจพี่น้องประชาชน เริ่มให้โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์และวิชาการเริ่มได้ปลูก ให้ความรู้แพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ค่อยๆ ทยอยไป แล้ววันหนึ่งการปลูกกัญชา 6 ต้นต่อบ้านก็จะประสบความสำเร็จ นี่คือ สิ่งที่เราพยายามทำให้ประชาชนจากการทำงานในสัปดาห์ที่สองของคณะรัฐมนตรี

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับน้ำมันกัญชาที่ อภ.มอบให้ ปลัด สธ.จะนำไปใช้ในโรงพยาบาลสังกัด สธ. 12 แห่ง และอธิบดีกรมการแพทย์จะนำไปใช้วิจัย ว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ ถือเป็นข่าวดีต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย และจะมีการติดตามประสิทธิภาพ ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพดีจริง เมืองไทยน่าจะเป็นผู้นำสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มโอกาสอุตสาหกรรมยามีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ประเทศ และบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป ถือเป็นข่าวดีที่ทำให้ความหวังการรอคอยของหลายฝ่ายได้เริ่มแล้ว

นพ.สุขุม กล่าวว่า น้ำมันกัญชาสูตรทีเอชซี 3,900 ขวด จะกระจายไป รพ.ศูนย์ 12 แห่งของเขตสุขภาพ ประกอบด้วย 1.รพ.ลำปาง 2.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 4.รพ.สระบุรี 5.รพ.ราชบุรี 6.รพ.ระยอง 7.รพ.ขอนก่น 8.รพ.อุดรธานี 9.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี 10.รพ.บุรีรัมย์ 11.รพ.สุราษฎร์ธานี และ 12.รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่วนตำรับกัญชาแพทย์แผนไทย จะใช้ในสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านแพทย์แผนไทย 7 แห่ง ประกอบด้วย รพ.เด่นชัย จ.แพร่, รพ.หนองฉาง จ. อุทัยธานี, รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม, รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และ รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และ รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่จะเข้ามารับบริการ ต้องมีการประเมินว่าเหมาะสมที่จะรับยาหรือไม่ ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนเพื่อประเมินอาการกับกรมการแพทย์ หรือเข้ามาขอรับบริการที่ รพ. หากแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นก็จะเลือกสูตรให้เหมาะสมกับโรค และติดตามการใช้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

เมื่อถามว่า ผู้ป่วยที่จะรับสูตรทีเอชซีต้องเป็นโรคอะไร นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทีเอชซีจะใช้ในอาการคลื่นไส้อาเจียน มะเร็งระยะสุดท้าย แต่ไม่ใช่การรักษามะเร็ง แต่ช่วยรักษาอาการข้างเคียงจากการรับยาคีโม คลื่นไส้อาเจียนมากจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือเจ็บปวดมากจนนอนไม่หลับ ส่วนกรมการแพทย์ได้รับสูตรทีเอชซีมา 600 ขวด โดย 100 ขวด จะใช้วิจัยในหลอดทดลองว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ ซึ่งเตรียมเซลล์มะเร็งไว้ 10 ชนิด คือ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ก็ทราบผล และอีก 500 ขวดจะนำไปศึกษาในสัตว์ทดลอง เพื่อดูประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความเป็นพิษ และความปลอดภัย ตรงนี้ต้องใช้เวลา ส่วนสูตร 1 ต่อ 1 หากได้รับมาแล้วจะมอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ศึกษาวิจัยการใช้เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ขึ้นทะเบียนไว้ ส่วนสูตรซีบีดีสูงจะใช้ในผู้ป่วยโรคลมชัก ทั้งนี้ ประชาชนสามารถปรึกกษาเกี่ยวกับกัญชาได้ที่สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มให้บริการได้ในวันที่ 8 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้ป่วยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แพทย์จะสื่อสารทำความเข้าใจอย่างไร เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากความไม่พอใจของผู้ป่วย นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เราคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเกิดขึ้น เวลาอบรมแพทย์จึงบอกว่าข้อบ่งชี้ต้องชัดเจน ซึ่งเราออกคำแนะนำ 3 กลุ่ม ได้ประโยชน์ 4 กลุ่มโรค น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์ ถ้าอาการไม่เข้ากัน เราก็อบรมแพทย์ในการสื่อสารว่า โดยย้ำว่า ถ้าไม่ตรงกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เราจะไม่จ่ายสารสกัดให้ แต่หากผู้ป่วยมีการใช้กัญชาเองอยู่แล้ว เราจะช่วยดูให้ และติดตามผลว่าเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ซึ่งถ้าเราเก็บข้อมูลการใช้ได้ทั้งหมด อาจได้ข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสูตรไหนออกฤทธิ์กับโรคไหนได้ดีกว่ากัน

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ต้องขออภัยกับการผลิตสารสกัดกัญชาที่ช้ากว่ากำหนด 2 เดือน ซึ่งเดิมทีตั้งเป้าผลิตออกมาภายใน พ.ค. 2562 แต่หลังจากตรวจสอบของกลางมีการปนเปื้อน จึงต้องปลูกแบบระบบปิดเพื่อให้ได้เกรดทางการแพทย์ขึ้น จึงได้สารสกัดออกมาช่วง ก.ค.- ส.ค. ออกมาเป็น 3 สูตร คือ ทีเอชซี ซีบีดี และสูตร 1 ต่อ 1 โดยทั้งหมดผ่านระบบเมดิคัลเกรด มีความปอลดภัย ปราศจากยาฆ่าแมลง สารโลหะหนัก และมีความคงตัวในแต่ละล็อต ผลิตทั้งหมด 6,500 ขวด แต่ล็อตแรกได้ส่งมอบ 4,500 ขวดก่อน จากนั้นจะมีการติดตามว่า สูตรไหนใช้มากกว่ากันก็จะมีการผลิตสูตรนั้นเพิ่มขึ้นต่อไป

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า น้ำมันกัญชาเป็นการขึ้นทะเบียนที่เรียกว่า Un Approve Drug เพื่อเอื้อให้ยากัญชาทางการแพทย์ใช้ได้เร็วในประเทศไทย โดยการควบคุมคุณภาพ และมีระบบให้รายงานความปลอดภัยในการใช้ในคนไข้เป็นรายๆ ว่านำไปใช้กับโรคอะไร ได้ผลหรือไม่ ซึ่งจะได้ระบบรายงานที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศ และทราบว่า กัญชาสูตรต่างๆ จะเหมาะกับโรคอะไร นอกจากนี้ อย.ยังร่วมกับสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) ทำระบบแทร็กกิ้ง (Tracking) นำร่องร่วมกับ 3 หน่วยงานที่ผลิตยากัญชา คือ อภ. รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า ยาทุกขวดที่ซื้อเป็นของจริงหรือไม่ ผลิตจากที่ไหน โดยใช้แอปพลิเคชัน SmartBar สแกนบาร์โค้ดหรือ DataMatrix ที่อยู่ข้างกล่องก็จะทราบข้อมูลทันที ว่าใครผลิต ผลิตวันที่เท่าไร วันหมดอายุ ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ช่วยสกัดของใต้ดินที่จะออกมาปลอม และอนาคตทุกบริษัทที่จะอนุญาตก็จะต้องใช้ระบบนี้ และจะแทร็กไปถึงต้นทางได้ว่า ขวดนี้ปลูกจากต้นไหน จังหวัดอะไรด้วย

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ว่า ได้ส่งกัญชาของกลางมาให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ จำนวน 1,000 กิโลกรัมแห้ง ซึ่งเข้าใจว่าจะส่งมอบภายในสัปดาห์หน้า และจากนี้ก็จะนำมาผลิตสูตรน้ำมันเดชา โดยเทคนิคซูเปอร์เทคนิคัลแบบของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เคยทำไว้ คิดว่าอีกไม่นานจะมีสูตรน้ำมันเดชา ซึ่งวันที่ 9 ส.ค. จะเชิญ นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี และคณะมาหารือว่าสูตรที่จะทำแบบน้ำมันเดชาจะทำอย่างไร ใช้อย่างไรจากของกลาง ป.ป.ส.
















กำลังโหลดความคิดเห็น