xs
xsm
sm
md
lg

หลายคนมักตกอยู่ในบ่วงของ Halo Effect

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Halo Effect คือ “ภาพการรับรู้” ที่จะถูกวาดขึ้นจากข้อมูลและประสบการณ์การเรียนรู้ที่คนเราได้รับในทุกๆวัน เพื่อทำการสะสมและเก็บบันทึกไว้ในหน่วยความจำของสมองเพื่อย่นย่อเวลาในการประมวลผลข้อมูลสำหรับการตัดสินใจหากมีเหตุการณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเกิดขึ้น ดังนั้น หากเราเคยมีข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ดีกับสิ่งใด ก็มักมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสิ่งนั้นหรือแม้แต่สิ่งที่เกี่ยวโยงกับสิ่งนั้นไปในทิศทางที่ดีเสมอ

ในเบื้องต้นผู้เขียนจะลองยกตัวอย่างใกล้ตัวอย่างเรื่องเครื่องแต่งกายซึ่งเป็นสิ่งแรกที่คนอื่นสามารถมองเห็นและตัดสินตัวเราเป็นลำดับแรก การปลูกฝังชุดข้อมูลเรื่องการแต่งกายนั้นมีมาตลอดตั้งแต่อยู่ในวัยเรียนถึงวัยทำงาน การแต่งตัวเรียบร้อย ดูสะอาดสะอ้าน ถูกต้องตามระเบียบหรือเหมาะสมตามกาลเทศะจึงมักเป็นสิ่งแรกในการสร้างความประทับให้กับผู้อื่น ในแง่หนึ่งคือการเคารพแบบแผนทางสังคมที่ถูกกำหนดร่วมกัน อีกด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนความใส่ใจในรายละเอียดของสิ่งต่างๆที่ตัวบุคคลนั้นมี

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนทั่วไปจะตัดสินตัวตนของนักศึกษาที่แต่งตัวไม่เรียบร้อยว่าขาดความรับผิดชอบ เป็นเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน และมีแนวโน้มที่จะรู้สึกประทับใจหรือรู้สึกยำเกรงต่อคนที่แต่งกายภูมิฐานซึ่งมักมีภาพการรับรู้ที่ชี้นำให้เชื่อว่าเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ มีฐานะและหน้าที่การงานที่ดี หรือมีอำนาจวาสนาเหนือคนอื่น ก่อนที่จะได้รู้จักตัวตนและนิสัยใจคอที่แท้จริงกันเสียอีก หรือการเหมารวมสิ่งที่ดูสวยงามว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอ หากไม่เชื่อก็ลองนึกถึงสาวสวยหนุ่มหล่อดูว่าช่วยให้เรามองโลกในแง่ดีได้มากขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งปรากฏการณ์ตามที่หยิบยกตัวอย่างขึ้นนี้ก็คือ “Halo Effect” นั่นเอง

แต่ปรากฏการณ์นี้เพิ่งถูกนำมาอธิบายอย่างจริงจังถึงพฤติกรรมทางจิตวิทยาของมนุษย์เมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีมานี้เอง โดยการบัญญัติศัพท์ของ Edward Thorndike (ค.ศ.1920)

Halo Effect สะท้อนความหมายของคำที่สื่อถึงรัศมีทรงกลด ซึ่งแสดงถึงศรัทธาและความเชื่อในสิ่งที่ดีงาม อาจไม่ตรงไปตรงมานักแต่ก็เป็นความพยายามในการอธิบายถึงพฤติกรรมทางจิตวิทยาของมนุษย์ที่มักอาศัยภาพการรับรู้ของตัวเองเป็นตัวชี้นำการตัดสินใจเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆโดยไม่รู้ตัว การถูกชี้นำโดยภาพการรับรู้นี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า อคติหรือความลำเอียง ซึ่งเป็นการลดทอนการใช้ความคิดเชิงเหตุผลอย่างถี่ถ้วนในทุกๆสถานการณ์ ในมุมมองของผู้เขียนอาจเรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจบนฐานความเชื่อว่าดีมากกว่าการใช้เหตุผลนั่นเอง

ด้วยการสะท้อนความเชื่อในสิ่งที่ดีงาม Halo Effect จึงมักใช้อธิบายอคติหรือความลำเอียงของคนเราในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียง รูปลักษณ์ภายนอก ความถูกชะตา การรู้จักสนิทสนม ไปสู่ความดีงามในด้านอื่นๆ จนละเลยที่จะมองเห็นหรือทบทวนข้อจำกัดและข้อบกพร่องอื่นไปโดยปริยาย เหตุผลนี้เองที่ทำให้ภาพการรับรู้ดังกล่าวมีอิทธิพลที่ทำให้การตัดสินใจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงและมีผลอย่างมากต่อการบิดเบือนพฤติกรรมการแสดงออก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการสร้างความสัมพันธ์ในฐานะความเป็นมนุษย์ต่อกัน

โดยเฉพาะโลกยุคดิจิทัล 4.0 ในปัจจุบันนี้ที่สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมในแทบทุกด้านของชีวิต ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างคุณประโยชน์มหาศาลให้กับคนยุคปัจจุบันแล้ว พร้อมกันนั้นยังสร้างช่องว่างขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ กลุ่มธุรกิจ การเมือง หรือแม้แต่สื่อสารมวลชนอาศัยพื้นที่นี้เข้ามายัดเยียดชุดข้อมูลที่อาจจริงหรือเท็จเพื่อสร้างภาพการรับรู้ให้กับผู้คนในสังคมไปในทิศทางที่เอื้อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มของตนเองมากที่สุด

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนพลัดตกลงไปลงไปในบ่วงของ Halo Effect โดยไม่รู้ตัว หลายกรณีหลงบริจาคเงินทองเพียงเพราะเห็นภาพคนสู้ชีวิตในสื่อออนไลน์ที่อาจมีคนจงใจสร้างภาพความเป็นคนดี ขยันแต่ยากจน ตรงกันข้ามก็หลงไปกับภาพคนที่สร้างตัวจนมีฐานะ พูดจามีหลักการน่าเชื่อถือมาชักชวนให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นคนเก่ง มีความสามารถสูง หรือเห็นภาพเป็นคนเข้าวัดทำบุญบ่อยๆแล้วเชื่อว่าจะไม่เอาเปรียบคนอื่น แม้จะคิดว่าตัวเองใช้เหตุผลไตร่ตรองดีแล้ว แต่ชุดข้อมูลที่ถูกยัดเยียดเข้ามาซ้ำๆทุกนาทีล้วนมีผลต่อการสร้างภาพการรับรู้ในทางบวกซึ่งอาจเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงได้เสมอ

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในทุกยุคทุกสมัยคือการสร้างภาพทางการตลาด โดยเฉพาะการนำนักแสดงหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆมาเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งมักกระตุ้นให้ผู้บริโภคอย่างเรามีภาพการรับรู้ว่าหากใช้ผลิตภัณฑ์แบบเดียวกัน ก็จะทำให้ตัวเราดูดี ดูเก่งหรือมีความสามารถเช่นเดียวกับคนที่เราชื่นชอบได้ ซึ่งการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่นนี้ในปัจจุบันได้คืบคลานขยายเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมือง โดยการส่งต่อชุดข้อมูลและความคิดทางการเมืองเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากคนในวงกว้าง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทันและคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด

ปรากฏการณ์ Halo Effect ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหากคนเราจะตัดสินสิ่งต่างๆไปล่วงหน้าได้จากภาพการรับรู้ที่มีอยู่ แต่ปัญหาคือบ่อยครั้งเมื่อเห็นว่ามีด้านหนึ่งที่ดีก็คิดว่าสิ่งนั้นต้องดีไปทั้งหมด ตรงกันข้ามเมื่อเห็นมุมที่ไม่ดีก็เหมารวมว่าเป็นความไม่ดีไปทั้งหมด (Reverse Halo) จนทำให้หลายคนทำสิ่งที่ผิดพลาดไปได้มาก ดังนั้นสิ่งที่ดีกว่าคือการใช้ชีวิตบนฐานของความจริง ความรู้และความมีเหตุมีผลกันเถอะ


กำลังโหลดความคิดเห็น