xs
xsm
sm
md
lg

หมอเผย อย.สหรัฐแค่อนุญาตขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" ไม่ได้บอกว่าปลอดภัย เตือน บ.ยาสูบห้ามเอาไปโฆษณา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอ เปิดโปงกลยุทธ์ บ.บุหรี่ แอบอ้าง อย.สหรัฐฯ เคลมบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ชี้แค่อนุญาตวางขาย ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย ส่งใบเตือนให้ธุรกิจยาสูบห้ามเอาไปโฆษณาแล้ว ลั่นเอาผิดกม.คุ้มครองผู้บริโภคฐานหลอกลวงได้

พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวถึงกรณีบริษัทบุหรี่ข้ามชาติพยายามล็อบบี้และกดดันรัฐบาลให้แก้กฎหมายห้ามนำเข้าและจไหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่ายาสูบไร้ควันอันตรายน้อยกว่าบุรี่ ลดอัตรายต่อผู้ใช้และคนรอบข้าง ว่า เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า อย.สหรัฐฯ แค่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่ในสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งการอนุญาตเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิดที่ต้องการจำหน่ายในสหรัฐฯ ต้องยื่นขออนุญาตอยู่แล้ว และ อย.สหรัฐฯ ย้ำว่าไม่ได้หมายถึงผลิตภัณฑ์นี้ปลอดภัยหรือผ่านการอนุมัติว่าปลอดภัย และเป็นคนละกระบวนการกับการพิจารณาของ อย.สหรัฐฯ ในเรื่องที่ว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่นี้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิมที่เรียกว่า “modified risk tobacco product (MRTP)”

พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ขณะนี้ อย.สหรัฐฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาและยังไม่อนุมัติหรือยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่นี้มีอันตราย หรือเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่แบบธรรมดา นอกจากนี้ อย.สหรัฐฯ ยังได้เตือนบริษัทบุหรี่ไม่ให้โฆษณาหรือไปกล่าวอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายน้อยกว่า หรือการใช้บุหรี่ชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ หรือกล่าวว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคน้อยกว่า หากฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.สหรัฐฯจะมีโทษอย่างหนัก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่ของบริษัทบุหรี่ อาจจะเรียกว่าบุหรี่ไฟฟ้า “ชนิดแห้ง” ก็ได้ เนื่องจากใช้ความร้อนจากแบตเตอรีมาทำให้ยาสูบมวนเล็ก ที่เตรียมโดยการใช้ใบยาสูบบดเป็นผงละเอียด เติมสารเคมีชนิดต่าง ๆ แล้วนำมารีดเป็นแผ่น ม้วนทำเป็นมวนบุหรี่ขนาดเล็กมาเสียบสูบกับอุปกรณ์ที่ชาร์จด้วยแบตเตอรี่ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าชนิดแห้งนี้ห้ามนำเข้าโดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ แล้วห้ามจำหน่ายโดยประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เช่นเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่ใช้น้ำยานิโคตินเหลว ทั้งนี้ การแอบอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา นอกจากขัดกับที่ อย.สหรัฐฯ ห้ามแล้ว ในประเทศไทยจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2552 ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น