xs
xsm
sm
md
lg

เด็กแบกกระเป๋าหนักสะท้อนระบบการศึกษาไทย! / ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ท่ามกลางธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่เข้าสู่ยุคใบไม้ร่วง และแทนที่ด้วยรูปแบบดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เราก็ยังคงได้ยินข่าวเด็กนักเรียน “แบกกระเป๋าหนังสือไปโรงเรียน” จนหลังแอ่น ภาพของเด็กน้อยที่ต้องแบกกระเป๋าเป้ กระเป๋าล้อลาก และสารพัดกระเป๋าที่หลากหลาย ซึ่งดูก็รู้ว่า “หนัก” ก็ยังเห็นจนชินตา

ดิฉันเชื่อว่าคนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง เคยผ่านช่วงเวลาเห็นลูกแบกกระเป๋านักเรียนไปโรงเรียนแล้วเครียดด้วยกันมาทั้งนั้น และก็ต้องเปิดกระเป๋าลูกเพื่อหาทางช่วยเหลือไม่ให้ต้องแบกเยอะ แต่เมื่อเปิดกระเป๋า เพื่อจัดตารางสอนแล้วก็มักพบว่า ต้องใช้ทั้งหมดนั่นแหละ

สุดท้ายสิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือช่วยลูกถือกระเป๋านักเรียน จนกลายเป็นภาพว่าพ่อแม่สปอยล์ลูก ไม่ยอมปล่อยให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง

เรื่องหนังสือที่เด็กต้องแบกไปโรงเรียนทุกวัน เป็นปัญหามาโดยตลอดเท่าที่ดิฉันจำความได้ เคยมีความพยายามจากหลายภาคส่วน ที่จะหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นว่าตามแต่โรงเรียนแต่ละแห่งจะเห็นปัญหา และหาทางแก้ไขกันเอาเอง

ถ้าเป็นเด็กเล็กก็แบกกันไป อย่างมากก็มีพ่อแม่ช่วยบ้าง
พอเด็กโตหน่อย โดยเฉพาะเด็กวัยประถมถึงมัธยมต้นที่จะรับบทแบกหนัก เพราะจำนวนหนังสือจะเพิ่มตามรายวิชาที่มากขึ้น และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ช่วยถือแล้ว ฉะนั้น ช่วงเด็กวัยนี้จะหนักสุด

ในขณะที่เด็กวัยมัธยมปลายเริ่มแก่กล้าวิชา ก็เริ่มหาวิธีเอาหนังสือเก็บไว้ที่โรงเรียนตามที่ต่าง ๆ สามารถซ่อนตามแหล่งที่รู้เฉพาะกัน เพื่อวันรุ่งขึ้นไม่ต้องแบกมาใหม่ แต่ละคนจะมีวิธีการในการทำอย่างไรที่ตัวเองไม่ต้องแบกของหนัก

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ

แต่เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ !

ล่าสุด กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งเมื่อมีเด็กสาววัย 14 ปี กระดูกสันหลังคดงอ และผู้เป็นแม่ก็เชื่อว่าน่าจะเพราะกระเป๋านักเรียนหนัก เพราะช่วงตั้งแต่ลูกขึ้น ม.1-3 ลูกต้องแบกกระเป๋าเดินเรียน ซึ่งลูกมักจะบ่นปวดหลัง ปวดไหล่เสมอตอนกลับมาบ้าน และมักให้แม่นวดให้บ่อย ๆ เมื่อเห็นภาพเอกซเรย์ปรากฏให้เห็นว่ากระดูกสันหลังของลูกคดงออย่างมาก โดยที่หมอสันนิษฐานว่าเกิดจากการแบกของหนัก ก็ทำให้เกิดความไม่สบายใจ

จริงอยู่ว่าเวลามีการออกมากระตุกเตือนสังคมเรื่องนี้ทีไร ก็จะต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ควรให้เด็กถือกระเป๋านักเรียนหนัก ไม่ควรแบกเกิน 15 % ของน้ำหนักตัว เพราะจะทำให้หลังโค้ง ปวดไหล่ คอ หลัง เสี่ยงเตี้ยในระยะยาว

ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยทำการศึกษาพบว่านักเรียนไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 ต้องแบกกระเป๋าหนักเรียนที่หนักมากจนเกินมาตรฐาน ซึ่งทั่วโลกกำหนดเกณฑ์น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมเอาไว้คือ ไม่เกินร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัว เช่น เด็กมีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม (ก.ก.) ควรแบกกระเป๋าหนักเรียนหนักไม่เกิน 2-4 ก.ก.เท่านั้น

ส่วนประเทศไทยคิดเป็นค่ากลาง ๆ คือ ไม่เกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว ทั้งนี้การแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากเกินไป จะมีผลกระทบทำให้กระดูกสันหลังโค้ง ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ บางคนเป็นระยะสั้น ๆ บางคนเป็นเรื้อรัง ซึ่งในระยะยาวอาจมีผลต่อพัฒนาการด้านความสูงได้ แต่ที่สำคัญคือเมื่อมีปัญหาสุขภาพย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียน
รวมไปถึงก็ต้องจัดกระเป๋าให้ถูกวิธี โดยควรเป็นกระเป๋าสะพายไหล่ทั้ง 2 ข้าง จัดวางสิ่งของให้สมดุล ไม่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการเคยรับไปดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งที่ดิฉันกลัวที่สุด คือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีส่วนต่อการกำหนดนโยบายการศึกษา จะหันมาเน้นนโยบายเรื่องให้เด็กใช้ E-Book เพื่อแก้กระเป๋านักเรียนหนักมาก

เพราะมันคนละเรื่องกัน ! แล้วมันจะไปสร้างปัญหาใหม่ด้วย

จริงอยู่ว่าเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล และธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ก็ล้มหายตายจากไปก็มาก แต่หนังสือเรียนของเด็กยังจำเป็นต้องเป็นหนังสือเป็นเล่ม โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องเรียนรู้ผ่านหนังสือ
ที่จริงการให้เด็กเรียนผ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ดี และสมควรยิ่ง เพียงแต่เนื้อหาในหนังสือแต่ละรายวิชามีความจำเป็นและเหมาะสมหรือไม่

ลองยกตัวอย่างวันหนึ่งเด็กเรียน 7 วิชา แล้วทุกวิชาก็ต้องมีหนังสือเรียน 7 เล่ม บางวิชามีแบบฝึกหัด หรือมีหนังสือเสริมอีกต่างหาก และหนังสือแต่ละเล่มก็หนาซะเหลือเกิน นี่ยังไม่นับรวมสมุดจดรายวิชาอีกนะ

คำถามก็คือเนื้อหาในหนังสือจำเป็นต้องมีมากมายขนาดพิมพ์ออกมาเป็นเล่มอ้วน ๆ เหมือนคัมภีร์ด้วยหรือ ?

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลอินเดีย ออกระเบียบให้โรงเรียนทั่วประเทศ ห้ามนักเรียนสะพายกระเป๋าเป้ ใส่หนังสือเรียนหนักเกินไป เนื่องจาก หวั่นเกรงว่าเด็กรุ่นใหม่ของอินเดียอาจจะมีปัญหาสุขภาพในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อผลจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 68 ของเด็กมีอาการเริ่มต้นของการปวดหลัง อาการหลังค่อมและกระดูกสันหลังคดงอผิดรูป โดยผลการสำรวจพบว่า มากกว่าร้อยละ 88 ของเด็กอายุระหว่าง 7-13 ปี ต้องแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินความเหมาะสมไปเรียน โดยน้ำหนักที่เหมาะสมของกระเป๋านั้น ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเด็ก

ภายใต้ระเบียบนี้น้ำหนักของกระเป๋าหนังสือจะขึ้นอยู่กับอายุของนักเรียน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงปีที่ 5 น้ำหนักของกระเป๋านักเรียนไม่ควรเกิน 3 ก.ก. ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป น้ำหนักกระเป๋า ไม่ควรเกิน 5 ก.ก.
นอกจากข้อห้ามเรื่องกระเป๋าหนักเกินไปแล้ว ยังมีคำสั่งห้ามครูให้การบ้านเด็กนักเรียนชั้นป. 1 และป. 2 ด้วย เพื่อไม่ให้นักเรียนกลุ่มนี้ต้องแบกกระเป๋าเรียนกลับไปทำการบ้านที่บ้าน

มาตรการของอินเดียเอาจริงเอาจังและเริ่มได้ผล ในขณะที่บ้านเราพูดเรื่องนี้มาก่อนเขาและยาวนานมากแล้ว

สิ่งที่อยากจะกล่าวก็คือ นอกจากประเด็นเรื่องของน้ำหนักกระเป๋านักเรียนว่าควรจะไม่เกินเท่าไหร่แล้ว ควรจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมด้วย ว่าจะแก้ปัญหานี้ในระยะยาวอย่างไร และจริงจังที่จะแก้ไขปัญหานี้เสียที

เพราะจริงๆ แล้ว ปัญหาเรื่องเด็กต้องแบกหนังสือไปโรงเรียนหนักจนหลังแอ่น ก็สะท้อนเรื่องระบบการศึกษาในบ้านเรานั่นแหละ

สะท้อนอะไรบ้าง ?

ประการแรก – เรื่องเนื้อหาและหลักสูตร

เราต้องยอมรับว่าสารพัดตำรามากมายในบ้านเรามักจะมีเนื้อหาวิชาการที่ค่อนข้างเน้นไปเรื่องจำนวนมากเข้าไว้ ทำให้ขนาดของเล่มก็ต้องหนา มีเนื้อหาเยอะไว้ก่อน ทั้งที่บางทีก็ซ้ำ หรือไม่มีความจำเป็น สิ่งที่ควรทำคือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการผลิตตำราเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัย กระชับ เข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องหนา แต่ให้เน้นเหมาะกับช่วงวัยในการเรียนรู้ เน้นเนื้อหาที่จำเป็น และให้เด็กได้ปฏิบัติจริง ให้สอดคล้องกับยุคสมัย หรือเรียนรู้นอกห้องเรียนต่อยอด และเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลด้วย

ประการที่สอง – จัดการระบบหนังสือเรียนที่โรงเรียน

โรงเรียนต้องจัดการระบบเรื่องหนังสือเรียนของเด็ก ไม่ใช่เพียงแค่จัดล็อคเกอร์ให้เด็ก แต่ต้องมีการจัดระบบเรื่องจัดวางหนังสือเล่มไหนที่เด็กต้องใช้เรียนแทบทุกวัน ไม่จำเป็นต้องให้เด็กเอาหนังสือกลับบ้านก็ได้ สามารถเอาไว้ที่โรงเรียนได้ เว้นแต่จะนำกลับไปทบทวน หรือทำการบ้าน ก็ต้องมีการเชื่อมโยงกับที่บ้านด้วย

ประการที่สาม - แก้ปัญหาที่การบ้าน

เรื่องการบ้านของเด็กสัมพันธ์กับการจัดระบบการจัดการหนังสือ เพราะเมื่อการบ้านเด็กเยอะ เด็กก็ต้องเอาหนังสือกลับบ้านเพื่อนำไปทำการบ้าน ฉะนั้นควรต้องคิดใหม่ การให้การบ้านเด็กมีหลากหลายรูปแบบที่ผู้เป็นครูสามารถให้เด็กกลับไปทบทวนที่บ้านได้ มิใช่ต้องทำแบบฝึกหัดอย่างเดียว แต่สามารถให้การบ้านในรูปแบบที่เด็กสามารถสนับสนุนกระบวนการคิดที่เชื่อมโยงกับทักษะชีวิตของเขาให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ไม่เพียงแต่กระเป๋านักเรียนหนัก การศึกษาไทยยังต้องการการปฏิรูปจริงจังอย่างรอบด้านด้วย

ขนาดรัฐธรรมนูญบังคับไว้ให้เป็น 1 ใน 2 ด้านการปฏิรูปสำคัญที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แต่จนบัดนี้ครบกำหนด 2 ปีมาหลายเดือนแล้ว คณะกรรมการอิสระชุดพิเศษหมดอายุไปแล้ว ยังมองไม่เห็นเลยว่ากฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาแถลงออกมาว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติยังไม่มีวี่แววจะเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติเลย และเมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดดราม่าทางการเมืองเหมือนช่วงแถลงนโยบายสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกหรือเปล่า

การเมืองเรื่องการศึกษาระหว่างผู้ใหญ่นี่ว่าไปแล้วก็ “หนัก” กว่ากระเป๋านักเรียนหลายเท่านัก

คนไทยเริ่มจะหลังแอ่นเหมือนลูกหลานแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น