สสส.จับมือบ.กล่องดินสอ วิทยาลัยราชสุดา เปิดโอกาสคนพิการ-ไม่พิการ “เรียนด้วยกัน” พัฒนาสังคมการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกัน พัฒนาความสามารถทางด้านออกแบบ ขานรับตลาดแรงงานโชว์ผลงานกราฟิกสร้างสรรค์จากฝีมืออาสาฯ หูดีและนักเรียนหูหนวก ณ หอศิลป์ฯ 23 ก.ค. -4 ส.ค. นี้
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท กล่องดินสอ จำกัด และ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กองกิจการนักศึกษา และ กองเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดงานแสดงผลงานออกแบบกราฟิกเพื่อพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาพิการทางการได้ยินและส่งเสริมสังคมการอยู่ร่วมกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ See Scene หลังจากที่ได้ร่วมโครงการ “เรียนด้วยกัน” ครั้งที่ 1 เป็นเวลา 10 วัน เพื่อพัฒนาสังคมการเรียนรู้สนับสนุนให้คนพิการ (ทุกประเภทความพิการ) และคนไม่พิการสามารถเรียนร่วมกัน เติมความรู้ความสามารถให้ผู้พิการ สร้างทัศนคติเชิงบวกให้คนพิการและคนไม่พิการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสัมพันธภาพ และความเข้าใจที่ดีต่อกันผ่านเนื้อหาการเรียนรู้ต่าง ๆ ในห้องเรียนเดียวกัน โดยถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวที่นักเรียนและอาสาสมัครประทับใจที่สุดของวัน ร่วมกับคณะละครใบ้ Baby mime ผ่านการสื่อสารแบบไร้เสียงที่ทำให้เรื่องราวแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนโครงการ ด้วยกัน ในการสร้างสรรค์กิจกรรมทางสังคมส่งเสริมสุขภาวะที่คนพิการและคนไม่พิการให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ และสร้างองค์ความรู้เพื่อให้องค์กรอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ โดยมุ่งให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมเรื่องการดำรงชีวิตอิสระเพื่อให้สามารถสื่อสาร เดินทาง และจัดการตนเองได้ภายใต้โครงการด้วยกันมีกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่ วิ่งด้วยกัน เต้นด้วยกัน ปั่นด้วยกัน ทำอาหารด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 เป็นต้นมา มีผู้สนใจและติดตามกิจกรรมผ่านเพจจำนวน 5,327 คน สำหรับโครงการเรียนด้วยกันมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนพิการและคนไม่พิการให้เข้าใจในข้อจำกัดของกันและกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ในการทำกิจกรรมร่วมกัน สสส.พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางเลือก นวัตกรรมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีสุขภาวะที่ดี ทั้งมิติกาย จิต ปัญญา และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับคนทั่วไป
ดร.วรางคณา รัชตะวรรณ รักษาการแทนรองคณบดี ฝ่ายการศึกษา กิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความหลากหลายของผู้เรียน คือทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งของการเรียนรู้ เมื่อผู้พิการทางการได้ยินกับผู้ไม่พิการได้มาร่วมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยกัน สิ่งที่ได้เรียนรู้ไม่ใช่เพียงแค่เนื้อหาของบทเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ “วิธีการเรียนรู้” ของกันและกัน โดยผลจากการดำเนินกิจกรรมนี้ ทางวิทยาลัยราชสุดา จะนำไปในพัฒนาหลักสูตรอาชีพระยะสั้นด้านการออกแบบกราฟิกสำหรับพัฒนาศักยภาพผู้พิการที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน ให้ผู้พิการตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของตนเองในการเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยวิทยาลัยราชสุดา ขอชวนทุกคนมาร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่แค่คนหูหนวกกับคนหูดีเท่านั้นแต่เป็นใครก็ได้ที่สนใจและมีเป้าหมายการเรียนรู้ที่สอดคล้องกัน (Inclusive learning) ด้วยกระบวนการที่ยืดหยุ่น (Flexible learning) เพราะเชื่อว่า การช่วยกันเรียนรู้นี้จะเสริมพลังที่จะช่วยพาทุกคนให้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ไปด้วยกันได้
นายสมบูรณ์ ชุติวิโรจน์สกุล ผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัทกล่องดินสอ จำกัด กล่าวว่า เราเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของคนพิการให้สามารถขยายผลได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเปลี่ยนกรอบความเชื่อเดิมๆ ที่คนพิการเคยถูกมองว่ามีศักยภาพจำกัด หรือทำงานได้เฉพาะเพียงบางประเภทเท่านั้น โครงการนี้จึงทำให้เห็นว่า หากมีการออกแบบสร้างสรรค์รวมกับการจัดการที่ดี เราก็สามารถพัฒนาคนพิการให้มีโอกาสมากยิ่งขึ้น ตอบเป้าหมายของกล่องดินสอ ในการมุ่งสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม หรือ Inclusive Society ให้เกิดขึ้นจริงได้” กิจกรรม “เรียนด้วยกัน” โดยเลือกจัดสอนวิชาออกแบบกราฟิกดีไซน์ เพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านออกแบบซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมากในขณะนี้
ด้าน นางสาว วิมลศรี จินดานุ นักเรียนพิการทางการได้ยิน กล่าวว่า เริ่มแรกรู้สึกกลัว เพราะไม่เคยได้ทำงานกับคนอื่น ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ที่หูดี ปกติเพื่อนที่หูได้ยินเค้าเรียนรู้ได้เร็ว แต่เราอาจจะเรียนได้ช้ากว่า ก็ได้น้องอาสาสมัครมาช่วย และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราเองก็ได้สอนภาษามือให้กับน้อง รู้สึกว่ามีความสุข และสนุกที่ได้เข้าร่วมการอบรม ถ้ามีอีกก็อยากเข้าร่วมในครั้งต่อๆ ไป ส่วนด้านทักษะเราก็ได้ความรู้การวาดภาพ ตัดต่อ นำไปใช้ประโยชน์ในการสมัครงานหรือทางานได้
นายสิรวิชณ์ พัฒนเจริญกิจ หนึ่งในอาสาสมัครที่มาเข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า การได้ทำงานร่วมกันกับผู้พิการเป็นสิ่งค่อนข้างแปลกใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อน การอยู่ร่วมกับคนพิการทำให้รู้ว่า คนพิการมีทักษะในการใช้เทคโนโลยี ทางานศิลปะ และมีความขวนขวายในการสร้างการสื่อสารมากกว่าคนทั่วๆ ไป ระหว่างเรียนเราก็หาวิธีการสื่อสารกันตั้งแต่เขียนบอก ใช้ภาษามือ หรือใช้วาดรูปเพื่อช่วยกันให้งานของเราสำเสร็จ นอกจากนี้ยังมีโอกาสไปพักร่วมกับนักศึกษาพิการทางการได้ยินที่วิทยาลัยราชสุดาในช่วงที่มาเรียน ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วการใช้ชีวิตของคนพิการก็ไม่ได้แตกต่างกับคนไม่พิการ พอเราใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น เราก็เข้าใจกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนมากขึ้น
สำหรับนิทรรศการ See Scene ภายใต้โครงการเรียนด้วยกัน ครั้งที่ 1 เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมฝีมือการเรียนด้วยกันของน้องๆ นักศึกษาหูหนวกและอาสาสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 4 หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 10.00 – 20.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 062-772-0330