xs
xsm
sm
md
lg

“กุ้ยโจว”จัดสัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน โชว์ศักยภาพ“ฮับ Big Data”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐบาลกุ้ยโจวโชว์ศักยภาพ “ฮับแห่งการศึกษา Big Data แห่งอาเซียน” เชื่อมเส้นทาง “วันเบลต์ วันโรด” สนองนโยบาย "สี จิ้นผิง" พร้อมอ้าแขนรับนักศึกษาทั่วโลกมาเรียนจีน เพื่อก้าวทันเทคโนโลยี เตรียมสยายปีกความร่วมมือด้านการศึกษา กุ้ยโจว - อาเซียน ลงนามเอ็มโอยูแล้วกว่า 1,500 ฉบับ ภายใต้วิสัยทัศน์ "เริ่มต้นอาเซียน ไปยังเอเชีย ทั่วทั้งยุโรป" พร้อมเร่งสร้างความร่วมมืองานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียน แม่เหล็กดึงดูดผู้นำ สถาบันการศึกษาชั้นนำมาร่วมแบ่งปันการพัฒนาด้านการศึกษาจีน - อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว


เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 ที่มณฑลกุ้ยโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมการความร่วมมือสัปดาห์การศึกษาจีน-อาเซียน ได้จัดงานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียนครั้งที่ 12 (2019 China-ASEAN Education Cooperation Week : The 12th CAECW) นาย Liu Baochang รองหัวหน้าสำนักงานการต่างประเทศกุ้ยโจว เปิดเผยว่าการจัดงานครั้งล่าสุด ปี 2562 มุ่งเน้นการจัดกิจกรรม หรือ โครงการสอนด้านภาษา วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมชา รวมถึงการแพทย์แผนจีน โดยเชิญผู้ร่วมงานรวมทั้งประเทศจีน อาเซียน และประเทศเยอรมัน ประเทศคาซัคสถาน ประเทศเม็กซิโก ประเทศมองโกเลีย ประเทศรัสเซีย ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอุซเบกิสถานมากกว่า 3 หมื่นคนมาร่วมงาน โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศจีน กระทรวงการศึกษาจีน รัฐบาลกุ้ยโจวและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “สนับสนุนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม และแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนา” เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล“โครงการเส้นทางสายเศรษฐกิจ” หรือ“วันเบลต์ วันโรด”One Belt One Road (OBOR) คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกของจีน ตามนโยบาย “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดี

นอกจากนี้ระหว่างจีนกับอาเซียน ยังมีความร่วมมือด้านสถาบันการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยในกุ้ยโจวได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วอาเซียนมากกว่า 30 แห่ง ภายใต้วิสัยทัศน์ "เริ่มต้นอาเซียน ไปยังเอเชีย ทั่วทั้งยุโรป" เช่น มหาวิทยาลัยการแพทย์จีนกุ้ยโจวได้พัฒนาศูนย์การฝึกอบรมต่างประเทศที่ประเทศไทย มหาวิทยาลัยชนชาติกุ้ยโจวได้ก่อตั้งวิทยาลัยมนุษยศาสตร์อาเซียน มหาวิทยาลัยมิงเตอ กุ้ยโจว และได้สร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอาเซียน

“ณ วันนี้ มณฑลกุ้ยโจวได้เซ็นสัญญาและบันทึกความร่วมมือกับอาเซียนมากกว่า 1,500 ฉบับ ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ความร่วมมือในการสอน ความร่วมมือในวิชาการ และอีกหลายๆ มิติ และ ยังได้สร้างพันธมิตรด้านการศูนย์การวิจัยการศึกษา 10 แห่ง เข้ามาส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาชั้นสูง ด้านอาชีวศึกษา ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานระหว่างประเทศจีน อาเซียนและประเทศในนโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” นาย Liu Baochang กล่าว

นอกจากนี้รัฐบาลกุ้ยโจวได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรม กับผู้นำของประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว รวมถึงความร่วมมือในด้านธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ อุตสาหกรรม Bigdata การท่องเที่ยวข้ามชาติ เทคโนโลยีเกษตรศาสตร์ การสื่อสารโทรคมนาคม ด้านสาธารณสุข และหลายๆ ด้าน จนนำมาสู่การจัดสัมมนาร่วมกันระหว่างจีนกับอาเซียนในด้านที่เกี่ยวข้องกับ Big Data หรือ อุตสาหกรรมการแพทย์ระหว่างอาเซียน-จีน พร้อมกับการจัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มนักเรียนศึกษาที่จีนกับอาเซียนในช่วงการเรียนการสอนระยะสั้น การแข่งฟุตบอลระหว่างอาเซียน-จีน หรือกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ “งานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียน”


ทั้งนี้ การจัดงานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียน จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อ ปี 2551 ณ เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะได้สร้างมิติการพัฒนาหลายด้าน โดยเฉพาะการส่งเสริม “โครงการเส้นทางสายเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลจีนในการพัฒนาประเทศระหว่างจีนกับอาเซียน เริ่มจากอาเซียน 10 ชาติ ผนวก จีน ดังนั้น 12 ปีที่ผ่านมา งานสัปดาห์ฯ ได้หล่อหลอมจีนกับอาเซียนเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน กับจีน เชื่อมโยงไปทั่วโลก ดังนั้นการจัดงานสัปดาห์ฯ ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกระทรวงการศึกษากุ้ยโจว ศูนย์การศึกษาอาเซียน-จีน (ACC) และองค์กรกระทรวงการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEAMEO) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมทุกปี

โดยเฉพาะ ปี 2558 งานสัปดาห์ฯ ครั้งที่ 8 ได้เชิญประเทศอื่นเข้าร่วมงานด้วย อาทิ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศรัสเซีย ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จึงทำให้การจัดงานสัปดาห์ฯ จาก อาเซียน ผนวก จีน หรือ 10 + 1 กลายเป็น 10+1 + ชาติสมาชิกอื่นๆ เข้ามาร่วมงานด้วย ที่เน้นความร่วมมือด้านการแพทย์ วัฒนธรรม และ ศิลปะ ฯลฯ ต่อมาปี 2559 ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จากรัฐบาลไทย เข้ามาร่วมงานการพัฒนาด้านการศึกษาและการร่วมมือด้านเทคโนโลยี จนกระทั่งปี 2560 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการจัดงานสัปดาห์ฯ ได้จัดสัมมนา Big Data เป็นครั้งแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน จนเกิดความร่วมมือเรื่อง Big Data และ การท่องเที่ยวข้ามชาติระหว่างประเทศจีนและอาเซียนเกิดขึ้น

นาย Liu Baochang กล่าวอีกว่า ตลอดการจัดงานสัปดาห์ฯ ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 12 มีพัฒนาการมาโดยตลอด อาทิ การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ อาทิ ศูนย์อาชีพการสอนอาเซียน-จีน ศูนย์บริการนักศึกษาอาเซียน โครงการการประสานความคิดทางอินเทอร์เน็ต ศูนย์การฝึกอบรมครูอนุบาลประเทศกัมพูชา-จีน ฯลฯ โดยเฉพาะ ปี 2556 มณฑลกุ้ยโจวได้เริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษานักศึกษาต่างชาติ และ จัดตั้งกองทุนการศึกษาเฉพาะของนักศึกษาอาเซียน และ ปี 2557 มณฑลกุ้ยโจวได้เริ่มส่งนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ พร้อมกับส่งอาสาสมัครสอนภาษาจีน เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย และหลาย ๆ ประเทศของอาเซียนเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาจีนในประเทศนั้นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น