xs
xsm
sm
md
lg

อภัยภูเบศร ห่วง "ยากัญชา" ขาดตอน แนะปลดล็อกนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ห่วง "ยากัญชา" ขาดตอน ต้องเร่งปลูก-ผลิต เสนอปลดล็อกนำเข้าเมล็ดพันธุ์ให้สารทีเอชซีสูง เหตุของกลาง ป.ป.ส.ใช้ได้อีกไม่นาน แนะเฟ้นหาพันธุ์กัญชงมีสารซีบีดีสูง ออกดอกไว ให้ทีเอชซีต่ำ

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรีกล่าวถึงการผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ว่า ขณะนี้กระแสเรื่องกัญชาทางการแพทย์มาแรงมาก มีการตั้งระบบบริการไว้รองรับแล้ว แต่ปัญหาคือตัวผลิตภัณฑ์หรือตัวยาหรือสารสกัดที่จะนำมาใช้ที่กำลังขาดอยู่ เพราะหากพิจารณาจะพบว่า น้ำมันกัญชาสูตรสารทีเอชซีสูง ผลิตมาจากกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหากของกลางหมดจะผลิตต่ออย่างไร ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ไปจนถึง พ.ย. 2563 เท่านั้น ถ้ารอของกลางที่มาจากลาว ตอนนี้ก็มีกระแสข่าวว่า มีการใช้สารพิษในการสกัด เมื่อส่งเข้ามาในไทยก็เหลือแต่ยาฆ่าแมลงและสารเมา ทีเอชซีก็น้อยลง

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่บอกว่าจะปลูกกัญชา ก็ต้องลงไปดูว่าปลูกพันธุ์อะไร และจะออกดอกหรือไม่ เพราะกัญชาจะออกดอกต้องใช้เวลา 5-6 เดือน และแสงกับอุณหภูมิต้องพร้อมพอเหมาะ ตนจึงเสนอว่า ควรจะต้องมีการเร่งปลูกกัญชาพันธุ์พื้นเมืองของไทย ซึ่งรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่ขอนิรโทษไว้จำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างการปลูก และควรจะให้คนที่มีเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่อยู่ใต้ดินมีโอกาสได้ออกมามอบเมล็ดพันธุ์ให้แก่ราชการในการนำไปปลูกขยายพันธุ์ เพื่อนำไปผลิตสารทีเอชซี อย่างน้อยจะได้มีพันธุ์แท้ๆ ของบ้านเรา และหน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อาจจะต้องหาและนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชาที่ให้ทีเอชซีสูงจากต่างประเทศ เพื่อนำขยายพันธุ์และปลูกในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ส่วนสารซีบีดีนั้น เราเชื่อกันว่ากัญชงมีสารซีบีดีสูงกว่ากัญชา แต่กรปลูกกัญชงของไทยนั้น เป็นการพัฒนาเพื่อเป็นเส้นใย จึงไม่มีสารซีบีดีเลย หรืออาจจะมีแต่ก็ต่ำพอๆ กับกัญชา แต่กัญชงในต่างประเทศ อย่างจีนครอบครองสายพันธุ์ที่ดี และพัฒนาไปค่อนข้างไกล เพราะมีทั้งเส้นใย น้ำมันจากเมล็ด และสารซีบีดี ทางออก คือ ภาครัฐจะต้องมีการหาพันธุ์กัญชงที่ให้ซีบีดีสูงจากแห่งไหนก็ได้ เข้ามาให้เกษตรกรปลูก โดยต้องใบที่ระบุรายละเอียดให้ชัดว่า หากลูกแล้วจะได้สารซีบีดีเท่าไรด้วย แต่ต้องไม่ใช่กัญชงในเมืองไทย เพราะหากใช้ของไทยให้เกษตรกรปลูกก็เสียเวลาเปล่า และเอาไปทำยาไม่ได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีการพัฒนาให้ได้กัญชงที่ใช้เวลาออกดอกสั้น แต่ได้สารซีบีดีสูง ซึ่งสารซีบีดีนั้นสำคัญเพราะตลาดจะโตกว่าทีเอชซี เนื่องจากหากปลดล็อกจากสารเสพติดแล้ว สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา ชาร์ล็อต แองเจิล ที่ให้ซีบีดีสูง อยู่ระหว่างการขออนุญาตเพื่อปลูก

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีการหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อทำดีเอ็นเอบาร์โคดให้แก่สายพันธุ์กัญชาที่นำมาขยายพันธุ์ในการปลูก เพราะเมล็ดและต้นก็หน้าตาเหมือนกัน แต่จะร่วมมือในการศึกษาไปถึงดีเอ็นเอของกัญชาว่า ถ้ามีดีเอ็นเอหน้าตาแบบนี้ให้สารสำคัญมากน้อยแค่ไหน เช่น ให้ทีเอชซี 30% 15% เป็นต้น ก็จะได้เก็บไว้เพื่อจดเป็นสายพันธุ์ไทย นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องขับเคลื่อนอีก คือ การใช้น้ำมันกัญชาไม่ว่าจะสูตรใดก็ตาม หากใช้แบบการรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Special Access Scheme : SAS) โดยมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จะได้ฐานข้อมูลมหาศาล ที่จะนำไปสู่การวิจัย และผลักเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติได้ ตรงนี้จะทำให้ไทยเป็นผู้นำด้านกัญชาและอาจเป็นมหาอำนาจด้านนี้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น