จักษุแพทย์ มธ. ห่วงเด็กไทยใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้อง ส่งผลสายตาสั้น-สายตาผิดปกติมากขึ้น เหตุต้องเพ่งมองในระยะแคบๆ ตลอดเวลา แนะออกไปใช้ชีวิตภายนอกห้อง มีกิจกรรมภายนอกห้องเรียนมากขึ้น ช่วยลดปัญหาสายตา
วันนี้ (25 ก.ค.) รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานฝ่ายวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวภายหลังได้รับรางวัลนักพัฒนาสุขภาพอาเซียนประจำปี 2562 ในโอกาสครบรอบ 36 ปีของการก่อตั้งสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า ปัจจุบันมีโรคตาที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในภูมิภาคนี้หลายโรค เช่น 1.ภาวะสายตาผิดปกติในเด็ก ทั้งสายตาสั้น สายตาเอียง และโรคตาขี้เกียจ เป็นปัญหาหลักที่พบสูงขึ้นหลายเท่าตัวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอาเซียน ถึงขนาดมีการกล่าวว่า ปัจจุบันเกือบทุกบ้านของคนไทยจะมีเด็กต้องใส่แว่นอย่างน้อย 1 คน ซึ่งปัญหานี้จะยิ่งพบมากขึ้นในสังคมเมืองและประเทศในเอเชียอื่นๆ เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สาเหตุของภาวะสายตาผิดปกติในเด็ก นอกจากกรรมพันธุ์แล้ว พฤติกรรมการใช้สายตาที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลกระทบต่อการเกิดภาวะสายตาสั้นและสายตาเอียงมากขึ้นและเร็วขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ ซึ่งแต่เดิมเราเข้าใจว่า การใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตทำให้เด็กสายตาสั้นหรือสายตาผิดปกติ แต่ภายหลังมีงานวิจัยพบว่า ไม่ใช่แค่การใช้สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่การที่เด็กใช้ชีวิตอยู่แต่ในที่ร่มหรือห้องแคบๆ ตลอดเวลา จะมีผลทำให้เกิดภาวะสายตาผิดปกติมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากการอยู่ในห้องแคบๆ จะทำให้เกิดการเพ่งมองระยะใกล้หรือในระยะแคบๆ ตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหาสายตาสั้นมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้จะพบในเด็กเอเชีย เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี รวมถึงไทย เป็นต้น มากกว่าเด็กทางโซนยุโรปหรืออเมริกา เพราะทางโซนนั้นเด็กจะมีกิจกรรมภายนอกห้องเรียนเยอะมาก แต่ทางเอเชียส่วนใหญ่เด็กจะอยู่แต่ภายในห้อง
"จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการของไต้หวัน กำหนดเป็นนโยบายเลยว่า ในการเรียนจะต้องเด็กนักเรียนต้องมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 90 นาที เพื่อหวังลดปัญหาสายตาผิดปกติที่อาจส่งผลให้เด็กกลายเป็นโรคตาขี้เกียจ ซึ่งเป็นความพิการถาวรต่อไปได้ สำหรับประเทศไทยปัญหาสายตาสั้นในเด็กเราพบมากขึ้น จากเดิมที่เมื่อก่อนพบประมาณ 5-6% ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการสำรวจพบสูงถึง 10-20% ซึ่งเกิดทั้งจากการใช้สมาร์ทโฟน และการใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในห้อง เพราะตอนเช้าไปโรงเรียนก็อยู่บนรถ ไปถึงโรงเรียนก็เพ่งอยู่แต่ในห้องเรียน กลับบ้านก็อยู่แต่ในห้องอีก ดังนั้น จึงต้องพยายามให้เด็กออกไปใช้ชีวิตภายนอกห้อง หรือไปอยู่เอาท์ดอร์มากขึ้น อย่างเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กหรือนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก็ถือว่าตอบโจทย์หากทำให้เด็กใช้ชีวิตอยู่นอกห้องมากขึ้น นอกจากเพิ่มกิจกรรมทางกายแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสายตาอีกด้วย" รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า และ 2.ปัญหาโรคตาของผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนอายุยืนขึ้น โรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายจึงพบมากขึ้น สำหรับความเสื่อมของดวงตาโรคที่พบมากขึ้นในผู้สูงอายุที่สำคัญได้แก่ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน และโรคจอตาเสื่อม ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของตาบอดที่สำคัญของคนไทยและอาเซียน ดังนั้น การพัฒนาระบบสุขภาพและการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโรคตาสู่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ จะช่วยลดความสูญเสียของดวงตาและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยและประชาชนในประเทศต่างๆ ของอาเซียนได้