xs
xsm
sm
md
lg

ไทยป่วย "โรคเนื้อเน่า" 100-200 ราย/ปี ห่วงละเลยแผลเล็ก จนติดเชื้อลุกลาม เร่งสอบสวนโรค จ.น่าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค เผยไทยป่วย "โรคเนื้อเน่า" 100-200 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เหตุลุยหญ้า เหยียบโคลน เสี่ยงเกิดบาดแผลง่าย ห่วงมองเป็นแผลเล็กไม่สำคัญ จนติดเชื้อและลุกลาม ย้ำต้องรีบทำความสะอาด หากบวม แดง มีไข้ ต้องรีบพบแพทย์ ชี้คนภูมิต้านทานต่ำ มีโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด อาจติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ สั่ง สคร.เขต 1 ติดตามเหตุใน จ.น่าน

วันนี้ (24 ก.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าใน จ.น่าน รวม 26 ราย ต้องเข้าไอ.ซี.ยู. 3 ราย และเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ว่า โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าไปในบาดแผล ทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย ส่วนใหญ่เกิดจากแผลเล็กๆ จึงไม่ได้ให้ความสนใจทำความสะอาด รายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ยิ่งมีอาการช็อกแล้วมาพบแพทย์ช้า จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคเนื้อเน่ามักพบในกลุ่มเกษตรกร ที่ทำไร่ทำนา เพราะมีโอกาสเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดินหรือในน้ำได้ง่าย จากการต้องเดินลุยหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างทำนา โดยประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าประมาณ 100-200 รายต่อปี พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตำแหน่งที่เกิดมากสุด คือ บริเวณขา รองลงมาเป็นบริเวณเท้า ส่วนขณะนี้มีผู้ป่วยเนื้อเน่าทั้งประเทศกี่รายอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1 จ.เชียงใหม่ ลงไปสอบสวนโรคดูแล้ว ว่าเหตุใดที่ จ.น่าน จึงเกิดป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อทางบาดแผลขึ้นมาหลายราย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ คนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น ต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล หากเกิดบาดแผล แม้จะเป็นแผลเล็กๆ ก็จะต้องดูแลรักษาแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงให้แผลโดนน้ำหรือดิน เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อลุกลามเป็นโรคเนื้อเน่า โดยระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ ทิ่มแทง ควรไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ถ้าปวดบริเวณแผล บวม แดงมากขึ้น หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดการติดเชื้อได้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งโรคนี้มียารักษาให้หายได้



กำลังโหลดความคิดเห็น