xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลุยใช้ "น้ำมันกัญชา" ใน รพ.ช่วง ส.ค.นี้ หลัง "อภ.-อภัยภูเบศร" ผลิตล็อตแรกรวมกันกว่า 2 หมื่นขวด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ.พร้อมใช้ "น้ำมันกัญชา" ใน รพ. เดือน ส.ค.นี้ หลังผลิตน้ำมันกัญชาล็อตแรกได้รวมกว่า 2 หมื่นขวด เผย อภ.ได้สูตรทีเอชซี 10,000 ขวด สูตร 1:1 ได้ 3,500 ขวด และซีบีดีอีก 500 ขวดในวันที่ 7 ส.ค. ด้านอภัยภูเบศร ผลิตทีเอชซีได้ 9,000 ขวด ใน 23 ส.ค.นี้ ส่วน ก.ย.-ต.ค.ได้อีก 4 หมื่นกว่าขวด กระจาย รพ.ที่ขออนุญาตจ่ายกัญชา ย้ำใช้ในผู้ป่วยที่จำเป็นก่อน

วันนี้ (24 ก.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมการจัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล ว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กว่า 100 แห่ง ยื่นเรื่องขอเป็นสถานพยาบาลที่สามารถจ่ายกัญชาทางการแพทย์ แต่เบื้องต้นคงไม่ใช่ทั้งหมดที่จะสามารถจ่ายตรงนี้ได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่กำหนด ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้ง แต่ที่หารือในครั้งนี้ คือ จะให้ 1 เขตบริการสุขภาพ มีสถานพยาบาล 1 แห่งเป็นแม่ข่าย รองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลในเขต และมีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต เป็นที่ปรึกษา และมีการหารือเรื่องการตั้งเป็นคลินิกเฉพาะกัญชาอีกด้วย

นพ.สุขุม กล่าวว่า ทั้งนี้ ภายใน ส.ค.นี้ จะมีน้ำมันกัญชาออกมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็น ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิตน้ำมันกัญชา อาทิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ก็จะมาดูว่าสถานพยาบาลใดจะดูแลได้บ้าง ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกร้องให้รักษาฟรี หากแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้ ก็ถือเป็นการใช้ยา เหมือนปัจจุบันผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ได้รับยาบางตัวที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า รพ.ได้รับกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งแรก จำนวน 30 กิโลกรัม และเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้รับมาอีก 632 กิโลกรัม โดยจะสามารถผลิตน้ำมันกัญชาสูตรทีเอชซี 1.7% ล็อตแรกจำนวน 8-9 พันขวด ขวดละ 5 ซีซี ออกมาในวันที่ 23 ส.ค.นี้ แต่ไม่ได้ใช้ใน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรแห่งเดียว ยังต้องกระจายให้สถานพยาบาลอื่นๆ ด้วย ส่วนล็อตถัดไปจะออกมาในวันที่ 20 ก.ย. จำนวน 1.4 - 1.5 หมื่นขวด และวันที่ 10 ต.ค. จะได้ 3 - 3.2 หมื่นขวด ขณะที่สารซีบีดีจะสกัดจากกัญชาที่ปลูกเอง จะได้ประมาณ ก.พ. 2563 ประมาณ 4.2 พันขวด

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า หลักการในการใช้สารสกัดทีเอชซีและซีบีดี คือ จะต้องใช้ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งหากแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้ก็สามารถใช้ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และใช้เท่าที่จำเป็น มีการติดตามผลการใช้ ซึ่งจะเริ่มจากผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ก่อน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาแผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ส่วนกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ หรือคาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ก็อาจจะขยายต่อไปหลังจากที่มีการผลิตน้ำมันกัญชาออกมาในจำนวนที่เพียงพอและครอบคลุม เพราะสามารถรอได้และมียาอย่างอื่นในการรักษา ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ก.ค. จะมีการหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เกี่ยวกับการทำดีเอ็นเอบาร์โคด ว่าสายพันธุ์กัญชาแบบไหนให้สารสำคัญเท่าไรอย่างไร และหารือกับเครือข่ายเกษตรกรในการทำเกษตรอินทรีย์

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ภายในวันที่ 7 ส.ค.นี้ อภ.จะสามารถผลิตน้ำมันกัญชาออกมาได้ โดยสูตรที่มีสารทีเอชซีสูงจะได้ประมาณ 1 หมื่นขวด สูตรทีเอชซีต่อซีบีดีสัดส่วน 1 ต่อ 1 ประมาณ 3,000-3,500 ขวด และสูตรซีบีดีสูงประมาณ 500 ขวด ส่วนเรื่องการกระจายน้ำมันกัญชา ส่วนหนึ่งจะให้กับกรมการแพทย์เพื่อดำเนินการตามโครงการศึกษาวิจัยที่มีข้อตกลงร่วมกัน อีกส่วนจะให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการพิจารณาให้กับผู้ป่วยที่ได้ยื่นขอนิรโทษกรรมการครอบครองไว้ ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือกับอย.เพิ่มเติมอีกครั้ง ส่วนกรณีปลดล็อกการนำเข้าเมล็ด เรื่องนี้มองว่าต้องดูให้ละเอียด เพราะถ้าเป็นสายพันธุ์ที่มีซีบีดีสูงจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าสายพันธุ์ที่มีทีเอชซีสูงจะต้องพิจารณาถี่ถ้วน จึงต้องแยกกัน จะปลดล็อกเหมารวมอาจไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น