กสศ.ร่วม บช.ตชด.ลงนามแก้เหลือมล้ำ ร.ร.ตชด. จ่อจัดสรรเงินอุดหนุน นร.ยากจน ปีการศึกษา 62 กลุ่มอนุบาล-ประถม รายละ 1,500 บาทต่อเทอม มัธยม 2,500 บาทต่อเทอม หวังเพิ่มโอกาสทางการศึกษา พร้อมพัฒนาคุณภาพครู หลังพบส่วนใหญ่ยังไม่ได้วุฒิครู ขาดแคลนงบพัฒนาอุปกรณ์การสอน
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) พล.ต.ท.วิชิต ปักษา รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) พร้อมด้วย นพ.ศุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไขและพัฒนาคุณภาพครู" ให้กับโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. 218 แห่ง
พล.ต.ท.วิชิต กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัด บช.ตชด. มีข้อจำกัดหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาครู การจัดการเรียนการสอน และเด็กนักเรียน เป็นหนึ่งตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัด บช.ตชด. 218 แห่ง แบ่งเป็น ร.ร.ตชด. 168 โรง และศูนย์การเรียน ตชด. 50 ศูนย์ โดยร้อยละ 20 เป็นโรงเรียนที่เดินทางยากลำบากมาก ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์ในทุกฤดู นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ด้อยโอกาส ส่วนหนึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่รู้ภาษาไทย เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน เด็กนักเรียนขาดเรียนบ่อย จากการเดินทางที่ยากลำบากโดยเฉพาะฤดูฝน การอพยพย้ายตามผู้ปกครอง ปัญหาโภชนาการและสุขภาพอนามัย
"บช.ตชด.ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา ทำให้โรงเรียนในสังกัดมีข้อจำกัดในเรื่องการบริหารและจัดการศึกษา เพราะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาที่เพียงพอ นอกจากนี้ ครู ร.ร.ตชด.ส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา หรือไม่ตรงตามสาขาวิชา ที่ผ่านมาได้พยายามพัฒนาครู ร.ร.ตชด. ให้ได้รับวุฒิทางการศึกษา เช่น ให้ทุนสนับสนุน ปรับเวลาเรียนให้สอดคล้องกับสภาพการทำงาน มีการศึกษาทางไกล แต่ด้วยข้อจำกัด เช่น ภาระงานที่หนักหลายด้าน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หลักสูตรมาตรฐานเดียวที่ไม่สอดคล้องกับสภาพจริงในการทำงาน ทำให้หยุดเรียนกลางคัน ดังนั้น ความร่วมมือกับ กสศ.นี้ จะช่วยสนับสนุนและให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนยากจนได้รับโอกาสทางการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพการศึกษาของ ร.ร.ตชด.ให้ดียิ่งขึ้น" พล.ต.ท.วิชิต กล่าว
นพ.สุภกร กล่าวว่า ที่ผ่านมานักเรียน ร.ร.สังกัด บช.ตชด. ไม่เคยได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนมาก่อน แต่ความเป็นจริงนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ด้อยโอกาส ผู้ปกครองให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาค่อนข้างน้อย เพราะต้องดิ้นรนทำงาน พื้นที่อยู่อาศัยยากลำบากในการเดินทาง ทำให้นักเรียนมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบ ทั้งนี้ บันทึกความร่วมมือดังกล่าว กสศ.จึงจะจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. ในปีการศึกษา 2562 โดยนักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา จัดสรรในภาคเรียนนี้ 1,500 บาทต่อคน มัธยมศึกษาจัดสรรภาคเรียนละ 2,500 บาทต่อคน โดยทั้งหมดจะอุดหนุนไปที่นักเรียนโดยตรง 50% เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ค่าเดินทาง บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า อีก 50% จัดสรรให้โรงเรียนเป็นค่าอาหาร ค่ากิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต นำเงินอุดหนุนไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเด็กนักเรียนอย่างยั่งยืน
"ครู ตชด.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน บันทึกข้อมูลนักเรียนเข้ามาในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) จำนวน 15,787 คน คัดกรองเรียบร้อย 13,037 คน คิดเป็นร้อยละ 82 โดยนักเรียนกลุ่มนี้ มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาท/คน/เดือน อยู่ระหว่างการประมวลผลการคัดกรองโดยจะมีการแจ้งรายชื่อนักเรียนทั้งหมดที่ผ่านเกณฑ์ภายในปลาย ก.ค.นี้" นพ.สุภกร กล่าว
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว กสศ.จะสนับสนุนด้านวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณ เพื่อพัฒนาคุณภาพครู ร.ร.สังกัด บช.ตชด. เช่น การพัฒนาครูประจำการ การเพิ่มทักษะด้านวิชาการ เทคนิคการเรียนการสอน การเพิ่มวุฒิการศึกษาให้จบปริญญาตรี และมีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ด้วยการสนับสนุนทุนให้แก่นักเรียนนักศึกษายากจน รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไปโดยนักเรียนที่จบจาก ร.ร.ตชด. ที่มีความต้องการที่จะเป็นครู มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ก็สามารถที่จะขอรับทุนจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เมื่อเรียนจบก็จะได้กลับมาเป็นครูในพื้นที่ชุมชนตัวเอง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาครูประจำการโยกย้ายบ่อย ลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
ผศ.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูในถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2562 ครู ร.ร.สังกัด บช.ตชด.ประมาณ 1,457 คน พบว่า ไม่จบปริญญาร้อยละ 36 จบปริญญาร้อยละ 64 โดยเป็นวุฒิด้านการศึกษาร้อยละ 25 ผลสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ครูที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษามีความต้องการศึกษาต่อ เพื่อให้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพครู เพราะจะได้เรียนรู้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีความต้องการสื่อและอุปกรณ์ทางการศึกษาให้เพียงพอและเหมาะสมสำหรับการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่เด็กนักเรียน และควรมีงบซ่อมแซมอุปกรณ์ด้วย ผลการสำรวจเบื้องต้นนี้ กสศ. ควรที่จะนำข้อค้นพบไปวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การเกิดการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนใน ร.ร.ตชด. 218 แห่ง ทั่วประเทศอย่างเหมาะสมต่อไป เช่น สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ควรเข้ามาร่วมพัฒนาครู ร.ร.ตชด. และออกแบบหลักสูตรครูที่ได้มาตรฐานและเหมาะกับสภาพความเป็นจริง เป็นต้น
ทั้งนี้หากภาคเอกชนรายใดสนใจที่จะร่วมบริจาค สมทบเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กสศ.หมายเลขโทรศัพท์ 0-2 079-5475