xs
xsm
sm
md
lg

เจาะผัง “ถนนข้าวสาร” ลุคใหม่ ปูหินพ่นไฟ จัดระเบียบแผงค้ายกเซต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนที่จะปรับปรุงโฉมใหม่ของ “ถนนข้าวสาร” ซึ่งถือว่าเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อให้เป็นสถานที่ที่เป็นมิตรต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเตรียมที่จะหาผู้รับจ้างผ่านระบบอี-บิดดิง และลงนามสัญญาจ้างภายใน ต.ค.นี้ และก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน ก.พ. 2563

สาเหตุที่จะต้องปรับภูมิทัศน์ถนนข้าวสารใหม่ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อธิบายว่า เพราะนายกรัฐมนตรีและผู้ส่าฯ กทม. มีนโยบายในการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญ ซึ่งมองไว้คือถนนเยาวราชและถนนข้าวสาร โดยถนนข้าวสารเองนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยหลังมีการจัดระเบียบผู้ค้าไปเมื่อปี 2561 ที่จะต้องเข้ามาดำเนินการต่อ เช่น การต่างคนต่างขาย ขายไม่เป็นเวลา ขายทั้งวันทั้งคืน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ การตั้งแผงค้าที่บดบังหน้าร้านอาคารพาณิชย์และมีการเรียกรับผลประโยชน์ รวมถึงการขายสินค้าที่ผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าลามกอนาจาร และยังมีรถเข็นที่ขายอยู่บนถนน ซึ่งกว่า 80% เชื่อว่าเป็นคนต่างด้าว จึงนำมาสู่การปรับปรุงและพัฒนาถนนข้าวสารให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและเป็นมิตรกับทุกคน

สำหรับลุคใหม่ของถนนข้าวสารนั้น จากแบบร่างที่สำนักงานเขตพระนครนำเสนอ พบว่า จากเดิมทางเท้าที่อยู่สูงกว่าพื้นผิวถนน จะมีการปรับปรุงให้ทางเท้าและพื้นผิวถนนอยู่ในระดับเดียวกันตลอดแนวถนน 400 เมตร และจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้

1.ทางเท้าหน้าแนวอาคารพาณิชย์ฝั่ง สน.ชนะสงคราม มีความกว้าง 2 เมตร

2.ทางเดินหน้าแผงค้า ความกว้าง 1 เมตร

3.แผงค้าความกว้าง 3 เมตร โดยลักษณะของแผงค้าเป็น 2 แผงหันหลังชนกัน โดย 1 แผงจะมีความลึก 1.5 เมตร กว้าง 2 เมตร

4.ทางเดินหน้าแผงค้า ความกว้าง 1 เมตร

5.ถนน ความกว้าง 6 เมตร ซึ่งระหว่างถนนและทางเดินหน้าแผงค้าจะมีการติดตั้งเสาเหล็กที่สามารถยืดหดลงไปกับพื้นได้ตลอดแนวถนนด้วย

6.ทางเท้าหน้าแนวอาคารพาณิชย์ ความกว้าง 2 เมตร

และความพิเศษของถนนข้าวสาร คือ เมื่อปรับระดับทางเท้าและพื้นจราจรให้เท่ากันแล้ว ทั้งหมดจะปูพื้นด้วยหินแกรนิตพ่นไฟ โดยแต่ละพื้นที่จะใช้สีต่างกัน เช่น ทางเท้าจะใช้สีแดง ถนนใช้สีดำ เป็นต้น

นายสกลธี กล่าวว่า หินแกรนิตพ่นไฟ จะมีความคงทนและสามารถรับน้ำหนักทั้งรถและคนเดินได้ และมีความสวยงาม จึงเหมาะสมที่จะนำมาปูพื้น ซึ่งจากการไปศึกษาดูงานในหลายประเทศ ก็มักใช้วัสดุดังกล่าวในการทำพื้น เพราะรถวิ่งได้ คนก็สามารถเดินได้ ส่วนการติดตั้งเสาเหล็กยืดหดได้นั้น อาจจะเลือกใช้ระบบปลดล็อกด้วยมือ เพราะมีความคงทนกว่า โดยการติดตั้งเสาเหล็กก็เพื่อแยกในส่วนของรถวิ่งและคนเดินออกจากกันให้เป็นกิจลักษณะ ซึ่งการที่ปล่อยให้มีเลนถนนด้วยนั้น ก็เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องมีรถพยาบาลหรือรถดับเพลิงในการวิ่งเข้ามาในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการจัดกิจกรรมที่ต้องใช้พื้นที่ของถนนทั้งหมดและต้องปิดไม่ให้รถเข้ามาวิ่งเลย ก็สามารถปลดเอาเสาลงได้ นอกจากนี้ การปรับปรุงถนนข้าวสาร ยังมีการทำระบบรางระบายน้ำใหม่ เป็นรางสเแตนเลสที่แนบไปกับตัวพื้นด้วย

นายสกลธี กล่าวว่า ในส่วนของแผงค้านั้นจะมีการหารือร่วมกับผู้ค้าในการออกแบบแผง ซึ่งลักษณะของแผงที่กำหนดไว้คือ จะมีขนาด 1.5x2 เมตร ไล่เรียงต่อกันไปจำนวน 10 ล็อก แล้วจึงเว้นระยะห่าง 2 เมตรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยผู้ค้าที่จะเข้ามาขายนั้นจะเป็นผู้ค้าแผงลอยที่ได้ลงทะเบียนรายชื่อกับทาง กทม.ไว้แล้ว ซึ่งมีประมาณ 234 ราย และจะแบ่งโซนอย่างชัดเจน เช่น โซนของกินจะอยู่หัวถนน โซนสินค้า เป็นต้น เพื่อไม่ให้ปะปนกัน ส่วนรถเข็นที่เดิมขายอยู่ในถนนนั้นจะไม่อนุญาตให้เข้ามาขายอีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว นอกจากนี้ สินค้าที่จะขายจะมีการตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย ลามกอนาจารอย่างเด็ดขาด และผู้ค้าจะต้องมีตัวตนจริง ไม่ใช่เอาแผงค้าไปเซ้งหรือให้เช่าต่อ และอาจจะต้องมีการเก็บค่าเช่าแผงด้วย เพราะเป็นที่สาธารณะ จะให้ใช้ฟรีๆ เลยคงไม่ได้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นและบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ แต่คาดว่าค่าเช่าคงไม่แผงมาก ผู้ค้าสามารถจ่ายได้

“รูปแบบใหม่ของถนนข้าวสารน่าจะวินวินทุกฝ่าย อย่างผู้ค้าแผงลอยก็น่าแฮปปี้ เพราะสามารถขายได้เหมือนเดิม รูปแบบก็ดีขึ้น เป็นระเบียบมากขึ้น ขณะที่เจ้าของอาคารพาณิชย์ก็จะแฮปปี้ เพราะหน้าร้านไม่มีคนบัง ซึ่งจากการสอบถามพบว่า หากไม่มีการจ่ายเงินให้บุคคลใดที่มาเรียกเก็บก็จะมีแผงลอยมาตั้งบังหน้าร้าน ซึ่งการจัดระเบียบตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ และทาง กทม.ก็แฮปปี้ด้วย เพราะได้จุดท่องเที่ยวที่สะอาด เป็นระเบียบ สวยงามมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าสภาพผ้าใบเก่าๆ สกปรก มีน้ำขัง อาจเป็นเสน่ห์ แต่มองว่าการพรีเซนต์ภาพเสน่ห์ที่ไม่สวยงามอาจไม่ใช่คำตอบ” นายสกลธี กล่าว

นายสกลธี ระบุว่า การปรับภูมิทัศน์ถนนข้าวสารต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งคงไม่สามารถปิดถนนข้าวสารไปเลยได้ เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวตลอดปี ก็คงต้องทยอยดำเนินการ โดยอาจแบ่งโซนในการทำ หรือทำไปทีละฝั่ง เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยจะใช้งบประมาณราว 48 ล้านบาท ส่วนเวลาในการขายนั้น จะกำหนดให้เป็นจุดผ่อนผันที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 21.00 น. หรืออาจจะ 09.00-24.00 น. หรือ 12.00-24.00 น. ตรงนี้อยู่ที่การหารือถึงความเหมาะสม ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการในส่วนของถนนข้าวสารเสร็จแล้ว อนาคตหรือเฟสสองจะมีการขยายการดำเนินการเช่นนี้ไปยังถนนโดยรอบ คือ ถนนรามบุตรีทั้งฝั่งข้าวสารและฝั่งวัดชนะสงคราม ถนนตานี ถนนสิบสามห้าง เป็นต้น

คงต้องมาลุ้นกันว่า “ถนนข้าวสาร” จะถูกพลิกโฉมออกมาในรูปแบบใด เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้จริงหรือไม่ และเสน่ห์ของถนนข้าวสารจะยังคงอยู่ตามที่ กทม.ระบุไว้มากแค่ไหน ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงาม ความสะอาด และความปลอดภัย จะเป็นที่ประทับใจของสักเพียงใด ก.พ. 2563 จะได้รู้กัน



กำลังโหลดความคิดเห็น