นศ.วิทย์ มธ. พัฒนา "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ" สูตรซินไบโอติก ไม่เติมน้ำตาล ขนมทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ อุดมด้วยสารอาหาร รับประทานได้หลายรูปแบบ จดอนุสิทธิบัตร พร้อมถ่ายทอดผู้ประกอบการ ผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ คว้าเหรียญทองนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากเวทีนานาชาติ ITEX 2019 ประเทศมาเลเซีย
นายพันธกานต์ บางขุนเทียน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (ISC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก” (Mangosteen vegan yoghurt snack (formula: synbiotic)) มาจากแนวคิดที่ต้องการนำเนื้อมังคุดฟรีซดรายที่มีชิ้นขนาดเล็ก ไม่สามารถนำไปจำหน่ายเป็นเนื้อมังคุดฟรีซดรายเกรดพรีเมียมได้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทำธุรกิจของครอบครัวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่า จากการสังเกตและสำรวจตลาด ณ ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคมักประสบปัญหาเรื่องการเลือกรับประทานอาหารทานเล่นหรืออาหารว่าง มีความต้องการจำกัดการบริโภคน้ำตาล ลดหวาน มัน เค็ม โดยขนมขบเคี้ยวที่จำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลักและมีสารอาหารไม่หลากหลาย
นายพันธกานต์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ และจากการศึกษาค้นคว้าพบว่า ผู้บริโภควัยรุ่น วัยทำงานในปัจจุบัน หากให้นึกถึงอาหารว่างที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะนึกถึงโยเกิร์ตหรือขนมที่ทำจากผลไม้เป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้นจึงได้แนวคิดที่จะทำเนื้อมังคุดฟรีซดราย โยเกิร์ต มาเป็นส่วนผสมหลักและพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารว่างประเภทขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าเชิงฟังก์ชันที่ดีต่อร่างกาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
นายพันธกานต์ กล่าวว่า สำหรับ “มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก” เป็นขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าจากสารอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ โพรไบโอติก (Probiotics; จุลินทรีย์ในโยเกิร์ต) และ พรีไบโอติก (Prebiotics; อาหารของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้) เป็นที่มาของสูตรซินไบโอติก (Synbiotic = Probiotics + Prebiotics) ที่ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น โดยทั่วไปโยเกิร์ตผลิตจากนมวัว ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่แพ้นมวัวไม่สามารถรับประทานได้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้จึงเลือกใช้โยเกิร์ตที่ผลิตจากถั่วเหลืองแทน ทำให้ผู้ที่แพ้นมวัวหรือรับประทานมังสวิรัติก็สามารถรับประทานได้ ผสานคุณค่าด้วยเนื้อมังคุดและเนื้อในเปลือกมังคุดฟรีซดรายที่อุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
"นอกจากนี้การพัฒนาสูตรยังมีส่วนผสมของพรีไบโอติกและใยอาหาร ไม่เติมน้ำตาล เป็นผลิตภัณฑ์อาหารว่างประเภทขนมที่มีทั้งสารอาหารและคุณค่าเชิงฟังก์ชัน จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ มีเนื้อสัมผัสกรอบเบา มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวที่ได้จากธรรมชาติจากโยเกิร์ตถั่วเหลืองและเนื้อมังคุด อีกทั้งมีสีม่วงอ่อนจากเนื้อในเปลือกมังคุดชวนน่ารับประทาน รูปแบบในการรับประทานก็หลากหลาย เช่น รับประทานเป็นขนมขบเคี้ยว นำไปตกแต่งกับอาหาร/ขนมหวานอื่น ๆ หรือบดให้ละเอียดแล้วชงละลายกับน้ำอุ่นกลายเป็นน้ำมังคุดโยเกิร์ตพร้อมดื่ม" นายพันธกานต์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม “มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก” เป็นผลงานวิจัยร่วมกับนางสาวเบญจวรรณ กุลทรัพย์สถิต นักศึกษาร่วมสาขา โดยมี ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการจดอนุสิทธิบัตร พร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการเพื่อให้ผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป นายพันธกานต์ กล่าว
รศ.ปกรณ์ เสริมสุข รักษาการแทนในตำแหน่งคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า สำหรับ “มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก” (Mangosteen vegan yoghurt snack (formula: synbiotic)) ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการประดิษฐ์ของนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีการประกวดและจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “The 30th International Invention, Innovation and Technology Exhibition” (ITEX 2019) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษา และทีมคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ที่มุ่งเน้นผลิตและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้กล้าคิด กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับแนวคิดของผู้ประกอบการ(Entrepreneurial mindset) เข้าด้วยกัน จนสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีศักยภาพในการต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพที่ทำเงินได้ในอนาคต ตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยผลงาน “มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก” นอกจากเป็นการนำมังคุดฟรีซดรายคุณภาพดีที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายเป็นเกรดพรีเมียมได้ มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมเพื่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกช่องทางหนึ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปของไทย เป็นสินค้าที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท และยังเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะมังคุดถือเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีชื่อเสียงและได้รับความชื่นชอบ จนได้รับฉายาว่า “ราชีนีแห่งผลไม้” (Queen of fruit) ดังนั้นเชื่อว่าผลงานดังกล่าวจะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และผู้บริโภคกลุ่มมังสวิรัติได้เป็นอย่างดี ในขณะที่นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถต่อยอดไปสู่การแปรรูปโดยใช้ผลไม้ชนิดอื่น ๆ ได้อีกด้วย
สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมอาหารดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (ISC) โทรศัพท์ 099-051-5130 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิตโทรศัพท์ 0-2564-4440 ต่อ 2002, 2020, 2045 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat