xs
xsm
sm
md
lg

บัตรทองเพิ่มสิทธิตรวจ "มะเร็งปากมดลูก" ด้วยวิธีใหม่ "HPV DNA Test" เริ่มปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บัตรทองเพิ่มสิทธิตรวจคัดกรอง "มะเร็งปากมดลูก" ด้วยวิธี HPV DNA Test เริ่มต้นในปี 63 กำหนดเป็นวิธีแรกในการคัดกรอง หญิงไทยอายุ 30-59 ปี หากตรวจเจอดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี จะตรวจซ้ำและเข้าสู่การรักษา เร่งประสาน สธ. ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ พัฒนาศักยภาพ ขยายบริการรองรับ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่รักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม ทั้งนี้ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นมาตรการสำคัญ โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้สิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ หรือวิธีวีไอเอที่ตรวจโดยชโลมปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู 3-5 % มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรอง และเป็นไปตามข้อแนะนำหรือไกด์ไลน์การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฉบับปรับปรุง ก.ย.2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงเห็นชอบให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ (HPV DNA test) ในปี 2563 โดยหน่วยบริการสามารถเลือกให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ทั้ง 3 รูปแบบ

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ เป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก วิธีนี้มีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติสูงมาก แต่มีข้อจำกัดที่ต้องควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ราคาค่อนข้างแพงและการใช้จำกัดอยู่ในสถานพยาบาลที่มีห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องและชุดตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ให้ใช้งานง่ายและราคาถูกลงมาก ประกอบกับผลการศึกษาการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ระบุว่า เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ เป็นวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยให้อุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลงเมื่อเทียบกับวิธีคัดกรองในปัจจุบัน ทั้งยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนรูปแบบของบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ จะเป็นวิธีคัดกรองมะเร็งปากมดลูกลำดับแรกในกลุ่มประชากรอายุ 30-59 ปี กรณีที่ผลการตรวจไม่พบเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองทุก 5 ปี และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจะทำการตรวจยืนยันซ้ำและเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ มีประเด็นพิจารณาทั้งในเรื่องของบุคลากรที่จะดูแลและอ่านผลจากเครื่องเอชพีวี ดีเอ็นเอ ที่ต้องเพิ่มในทุกเขต และมีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น สปสช.จะประสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในการพัฒนาและขยายศักยภาพของทุกหน่วยบริการเพื่อรองรับการตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ และจัดระบบบริการรองรับการเข้าถึงบริการรักษาต่อเนื่องหลังจากผลการตรวจคัดกรองเป็นบวก ทั้งการตรวจปากมดลูกด้วยกล้อง (Colposcopy) เพื่อยืนยันและการรักษามะเร็งตามจำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น