xs
xsm
sm
md
lg

คุณเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้เขียนอยากให้คุณผู้อ่านลองตอบคำถาม 5 ข้อต่อไปนี้ก่อนว่ามีลักษณะสอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่หรือไม่...

1.อยู่ๆก็มีความคิดว่าอาจจะเกิดเรื่องที่ไม่ดีซึ่งเป็นเรื่องซ้ำๆเดิมๆ?

2.ไม่สบายใจและวิตกกังวลจนไม่สามารถหยุดคิดถึงเรื่องนั้นได้?

3.แม้จะรู้ตัวว่าเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลแต่ก็ไม่สามารถเลิกคิดได้?

4.อยากทำอะไรบางอย่างเพื่อทำให้เลิกคิดและคลายความกังวลใจ?

5.คิดและทำซ้ำไปซ้ำมาบ่อยครั้งจนไม่สามารถเลิกที่จะเป็นอย่างนั้นได้?

ถ้าคุณผู้อ่านตอบว่า “ใช่” แม้เพียงแค่ 3 ข้อแรกแล้ว ในเบื้องต้นก็เป็นไปได้ว่ามีลักษณะที่สอดคล้องกับอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งไม่ควรนิ่งนอนใจโดยเห็นว่าเป็นเพียงอาการเจ็บป่วยน่ารำคาญใจที่ไม่ได้มีความร้ายแรงอะไร แต่หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานจนอาการรุนแรงขึ้นและต้องทนทุกข์อยู่กับความกังวลใจในเรื่องซ้ำๆเดิมๆ จนเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตตามปกติเพราะมัวแต่คอยย้ำคิดย้ำทำแต่เรื่องไม่เป็นเรื่องอยู่นั่นเอง การไปพบจิตแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive-Compulsive Disorder (OCD) เป็นโรคที่มักพบได้ตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไป โดยอาจเกิดร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น อาทิ โรควิตกกังวลทั่วไป โรคแพนิค รวมถึงโรคซึมเศร้า โดยอาการของโรคสามารถเป็นได้ทั้ง “อาการย้ำคิด” ที่อยู่ๆก็นึกคิดเรื่องไม่ดีซ้ำๆเดิมๆขึ้นมาโดยไม่มีที่มาที่ไป หยุดไม่ได้ ยิ่งคิดยิ่งกระวนกระวายใจ หาความสุขไม่ได้ และ “อาการย้ำทำ” ซึ่งเป็นพฤติกรรมซ้ำๆที่มากเกินปกติ เพื่อตอบสนองต่อวิตกกังวลและต้องการป้องกันหรือแก้ไขสิ่งไม่ดีที่ตัวเองคิดอยู่ตลอดเวลา

โดยปกติแล้วคนทั่วไปก็อาจมีความคิดวิตกกังวลเนื่องจากการหลงลืมบ้างในบางครั้ง เช่น รู้สึกกังวลใจเมื่อนึกขึ้นได้ว่าลืมปิดไฟหรือลืมใส่กลอนประตูก่อนออกจากบ้าน แต่ในวันอื่นที่ไม่ได้หลงลืมก็ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวมาคิดคำนึงถึงแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำที่แม้จะไม่ได้ลืมทำอะไร แต่ก็มักคิดวนเวียนถึงแต่เรื่องนั้นและวิตกกังวลจนต้องหาทางทำอะไรบางอย่างซ้ำไปซ้ำมาอยู่บ่อยๆเพื่อแก้ไขสิ่งนั้น ซึ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นเป็นการชั่วคราว โดยอาจมีความคิดและพฤติกรรมในหลายลักษณะ กล่าวคือ

บางคนย้ำคิดย้ำทำเพราะกลัวโรคภัยจึงไม่ชอบสุงสิง เข้าใกล้หรือถูกเนื้อต้องตัวคนอื่น บางคนไม่ชอบความสกปรก เลอะเทอะเปรอะเปื้อนจากการหยิบจับสิ่งของหรือการเข้าห้องน้ำ ก็มักกังวลใจแม้จะไม่ได้จับอะไรก็ตามและหาทางล้างทำความสะอาดส่วนที่คิดว่าสัมผัสซ้ำแล้วซ้ำอีก บางคนไม่ชอบความไม่เรียบร้อยก็จะเห็นแต่ความไม่เรียบร้อยและคอยเก็บข้าวของอยู่ตลอดเวลา ขณะที่บางคนกลัวอันตรายจากความสะเพร่าหรือความหลงลืม ก็มักต้องคอยวนเวียนมาปิดไฟ ใส่กลอนประตู ปิดเตาแก๊สจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น

สำหรับสาเหตุของการเจ็บป่วยจากโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นสามารถเกิดได้จากทั้งปัจจัยด้านร่างกาย โดยความผิดปกติจากการทำงานของสมองหรือระบบประสาทในส่วน Serotonin รวมทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งอาจพบได้ไม่มากนัก ขณะที่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ชีวิตก็นับว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสถานการณ์ไม่พึงประสงค์เข้ากับความคิดจนติดฝังแน่นในใจ เกิดเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดความสบายใจหรือรู้สึกปลอดภัยในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ติดอยู่ในความคิด

การรักษาจึงต้องพิจารณาตามสาเหตุ อาการและความรุนแรงของโรค รวมทั้งอาจจำเป็นต้องพบคุณหมออย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ยาในกลุ่มยาคลายกังวลและยารักษาโรคซึมเศร้าช่วยควบคุมอาการ ควบคู่ไปกับวิธีการที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy (CBT) โดยการปรับความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานทางจิตใจให้สามารถรับมือกับความคิดของตัวเองและควบคุมพฤติกรรมไม่ให้ตอบสนองความคิดซ้ำๆเดิมๆอีก แม้จะเป็นวิธีการที่ใช้เวลาแต่ก็ส่งผลดีในระยะยาว

ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านก็คงพอจะประเมินได้คร่าวๆแล้วว่าตัวเองเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ หากเห็นว่ามีแนวโน้มว่าจะเป็นก็ไม่ต้องตกใจกลัวว่ามีเรื่องให้วิตกกังวลมากขึ้นไปอีก เพียงปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอ เสริมสร้างสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง อาการเจ็บป่วยอันไม่พึงประสงค์นี้ก็จะทุเลาบรรเทาลงและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น