xs
xsm
sm
md
lg

ความสุขที่ว่างเปล่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในปีที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดมีวิชาเลือกใหม่ ที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากที่สุดเป็นปรากฎการณ์คือวิชา "The Pursuit of Happiness" ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อต้องการ "ความสุข" นอกจากนั้นเคยมีนักจิตวิทยาเข้าไปศึกษาสภาพจิตใจของผู้ป่วยในโรงพยาบาลพบว่าคนไข้บางรายมีความสุขมากกว่า คนปรกติที่ไม่ได้ป่วยเสียอีก จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หากเราเข้าใจ รู้เท่าทันความรู้สึก "สุข" เพราะจะได้ง่ายต่อการแสวงหาความสุขให้เกิดขึ้นง่าย ๆ ในชีวิต

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจไม่น้อยคือ ความสุข นั้นเกิดจาก กระบวนการ วิถีดำเนินชีวิต หรือครรลองไม่ได้เกิดจาก สภาพใดสภาพหนึ่ง หรือสิ่งของใดสิ่งของหนึ่ง และความสุขไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่ง แต่ความสุขคือความรู้สึกที่ได้จากการลองผิดลองถูก ใช้ชีวิตอย่างได้เต็มเปี่ยมคุณค่า และดึงความสามารถของเราออกมาได้เต็มที่ และความหวัง ความสามารถ การมีพลังการต่อสู้ คือสภาพแห่งความสุข ที่จะนำมาเราจากความสุขช่วงหนึ่งไปสู่ความสุขอีกช่วงหนึ่งได้

ผลค้นคว้าอันน่าอัศจรรย์คือ งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า คนที่หมกมุ่นกับการหาความสุขอยู่ตลอดเวลา คือคนที่จะทุกข์ง่ายมาก และหาความสุขได้ยากมาก อาจารย์ Eric Wilson จากมหาวิทยาลัย Wake Forest ของอเมริกากล่าวว่า การหมกมุ่นกับการยึดติดความสุขมากจนเกินไป เช่น ต้องอยู่อย่างติดหรู ต้องเที่ยว ต้องซื้อ นั่นคือกับดักเพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เป็นคนขี้ขลาด คิดไม่เก่ง ใช้เหตุผลน้อย โดยดูจากเด็กวัยรุ่นที่อกหักและร้องไห้ทันที น้ำตาจะเยียวยาความทุกข์ แต่ไม่ได้ทำให้เราได้ฉุกคิด แต่วัยรุ่นที่สงบนิ่ง ไม่ฟูมฟาย จะคิดพิจารณาตามสิ่งที่เกิดขึ้น และจะสามารถจัดการกับความเศร้า และหาทางออกได้ถาวร โดยได้กล่าวไว้ตอนสรุปของงานวิจัยว่า "คนที่เสพติดความสุข คือคนที่กำลังใช้ชีวิตอย่างว่างเปล่า"

สิ่งแรกนั้นเราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ชีวิตคนเราเต็มไปด้วยความผิดหวัง สมหวัง เรามีแนวโน้มความพ่ายแพ้ และชนะผสมกันไป แต่กระนั้นแม้ว่าเราจะได้รับความสำเร็จในวันนี้หากเราไม่เท่าทันความรู้สึก เราก็จะละเลยสิ่งที่มีค่ามากกว่าชัยชนะ นั่นคือ เรื่องราวประสบการณ์ ความตั้งใจที่เราได้ใช้ รวมถึงบุคคลต่างๆที่มีค่าที่เข้ามาในชีวิต นอกจากนั้นการเป็นคนสู้ มุ่งมั่นและก้าวเดินไปข้างหน้าอยู่เสมอ จะทำให้เรามีความสุขง่าย และบริหารจัดการ ระงับ อารมณ์ด้านลบ เช่น กังวล กลัว และซึมเศร้าได้ดี

คนที่มีความสุข ไม่ใช่คนที่ไม่มีเรื่องลำบาก หรือเด็กที่มีความสุข ไม่ได้หมายถึงเด็กที่สอบได้คะแนนมากอยู่ตลอดเวลา เพราะหากเราไม่ใส่ใจในกระบวนการใช้ชีวิต เล็งแต่เป้าหมายหรือวัตถุ สิ่ง ๆ หนึ่ง และยึดว่านั่นคือ ความสุข เราจะโหยหาอยากได้เพิ่ม อยากมีมาก เปรียบเทียบไม่มีวันจบสิ้น แล้วความรู้สึกไม่นิ่ง เร้าร้อนเหล่านี้มันยิ่งทำให้ความสุขหนีห่างเราออกไปอีก

นอกจากนั้นแล้วในชีวิตแต่ละวันของเรา เราต้องมีการตัดสินใจ เราต้องเลือกไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เสื้อผ้าที่จะใส่ เรื่องงาน หรือแม้แต่การเลือกคู่ครอง เรามักติดกับดัก คิดว่าคนที่มีทางเลือกเยอะ คือคนที่น่าจะมีโอกาสได้เจอความสุขเร็ว หรือมากกว่าคนอื่น แต่ตามทฤษฎีความขัดแย้งของทางเลือก (The Paradox of Choice) สรุปผลออกมาว่า การมีตัวเลือกมาก ทำให้เราสับสน สติเหตุผลลดลง จบท้ายเรามีโอกาสจะไปเลือกสิ่งที่ไม่เหมาะกับตัวเรา หรือเลือกได้ของดีแล้วก็ไม่สุขสักที

กระนั้นก็ตาม ไม่มีวิธีผูกขาดที่จะทำให้ทุกคนมีความสุขได้เท่ากัน ดังนั้นการแสวงหาความสุขที่ถูกต้องคือ การเข้าใจชีวิต เลือกใช้ชีวิตที่มีค่า เลือกจะเป็นผู้ให้ เสียสละ ส่วนจะไปบังคับให้คนอื่นมองโลกในแง่ดีนั้นคงเป็นไปได้ยาก หากชีวิตของคน ๆ นั้นเต็มไปด้วยเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา การไปสั่งให้ "โลกสวย" โดยที่ไม่ตรงกับชีวิตจริง ยิ่งทำให้คนที่ทำไม่ได้ความรู้สึกแย่ รู้สึกล้มเหลวเปล่าประโยชน์

หากเรายอมรับความจริงในเรื่องนี้ เราจะเป็นคนไม่กลัวการใช้ชีวิต ไม่หมดแรงต่อสู้ เราลองถามตัวเองง่ายๆว่าหากมีมนต์วิเศษ ให้เราขออะไรก็ได้สี่ห้าอย่างเราอยากได้อะไรบ้างแบบที่จะไม่เดิอดร้อนใคร เมื่อได้คำตอบแล้วขอให้ทุกคนสู้ไปถึงเป้าหมายนั้น ด้วยแรงกาย แรงใจ เราจะบรรลุถึงสิ่งนั้น ด้วยประสบการณ์ที่เป็นความสุขค่ะ

ครูฮ้วง

-----------------

ครูฮ้วง-เสาวลักษณ์ ลี้รุ่งเรืองพร เจ้าของสถาบัน Campus Genius Center ผู้สอนหลักสูตรติวเข้มเพื่อการสอบ SAT ด้วยแนวคิดแบบ Critical Thinking ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถยื่นคะแนนเข้าเรียน และประสบความสำเร็จในการเรียนคณะอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น