xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิศวะ มหิดล ศึกษา "รอยเลื่อนแม่จัน" พบยังสะสมพลัง ขนาดยาวสุดในไทย เสี่ยงแผ่นดินไหวเขย่า "เมืองโบราณเชียงแสน" เสียหาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะวิศวะ มหิดล เผย "รอยเลื่อนแม่จัน" มีความยาวที่สุดในไทย ยังสะสมพลังงานอยู่ เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว หลังไม่เกิดมานาน 600-700 ปี ห่วงหากเขย่าเกิน 6.8 เสี่ยงทำเมืองโบราณเชียงแสนเสียหายหนัก แนะพัฒนาเมืองให้ยืดหยุ่นรองรับหากเกิดเหตุ

วันนี้ (18 ก.ค.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แถลงข่าว "ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เมืองโบราณเชียงแสนบนรอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย" โดย ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมนุษย์ยังไม่สามารถรู้เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่วงหน้าเกินกว่า 4 วินาที แม้แต่ชาวญี่ปุ่นซึ่งเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์กับแผ่นดินไหวมายาวนาน นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยนานาประเทศ ต่างพยายามทุ่มเท ค้นคว้าเทคโนโลยีการเตือนภัยแผ่นดินไหว ซึ่งคาดการณ์ได้ยาก

ดร.วศพร เตชะพีรพานิช หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ม.มหิดล กล่าวว่า การศึกษาวิจัย เรื่อง ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เมืองโบราณเชียงแสนบนรอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เมืองโบราณเชียงแสนบนรอยเลื่อนแม่จัน แนวโน้มและความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุแผ่นดินไหว เพื่อทําการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของแผ่นดินไหว ธรรมชาติของแผ่นดินไหว เพื่อไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนรับมือและเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวต่อไป

ผศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า รอยเลื่อนแม่จัน เป็นหนึ่งใน 13 รอยเลื่อนในประเทศไทย ที่มีพลังและยาวที่สุด เคลื่อนตัวตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย พาดผ่านตั้งแต่ อ. ฝาง จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เชียงแสน จ. เชียงราย เข้าสู่ประเทศลาว ระยะทางกว่า 185 กิโลเมตร สังเกตได้จากแนวเส้นทางหลวงหมายเลข 1089 ในอดีตมีความเชื่อว่า รอยเลื่อนแม่จันเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหว เมื่อ 1,500 ปีก่อน ประมาณ พ.ศ. 1003 ทำให้อาณาจักรโยนกนาคนครล่มสลายและน้ำท่วมเมืองจมหายไป และปัจจุบันมีความเป็นไปได้ที่รอยเลื่อนแม่จันยังคงสะสมพลังงานอยู่ และจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่อาจสร้างความเสียหายได้

ผศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก 1.พื้นที่รอยเลื่อนโดยรอบ อ.เชียงแสน เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้วทั้งหมด เหลือเพียงรอยเลื่อนแม่จัน ที่ยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมากว่า 600 - 700 ปี แล้ว 2.ความยาวของรอยเลื่อนแม่จัน ที่ยาวถึง 180 กว่ากิโลเมตร และ 3.ร่องรอยประวัติศาสตร์ และโบราณสถานต่างๆ ซี่งได้รับความเสียหายน้อยมากจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตในช่วง 600 - 700 ปีที่ผ่านมา การคงอยู่ของโบราณสถานเมืองเชียงแสนตลอด 600 - 700 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งยืนยันว่า ในบริเวณนี้ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวอีกเลยในช่วงเวลานั้น

"พ.ศ. 1868 ในยุคต้นของอาณาจักรล้านนา พระเจ้าแสนภูได้สร้างเชียงแสน เป็นเมืองเอกในอาณาจักรล้านนา มีอายุเก่าแก่ประมาณ 600 - 700 ปี และยังคงมีเจดีย์โบราณกว่า 100 แห่ง ที่ยังปรากฏอยู่มาถึงปัจจุบัน อาทิ เจดีย์หลวง ซึ่งสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1871 ความสูงยอดเจดีย์ ในประวัติเริ่มแรก 58 เมตร ปัจจุบันมีความสูง 35 เมตร เนื่องจากยอดขนาด 7 เมตรเคยหักโค่นลงมาเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวในประเทศพม่าใน พ.ศ. 2554 ต่อมาได้รับการบูรณะกลับคืนมาเหมือนเดิม หรืออีกหนึ่งโบราณสถานที่สำคัญ “เจดีย์ป่าสัก” ซึ่งสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1875 ซึ่งมีความแตกต่างจากเจดีย์หลวง คือ สถาปัตยกรรมในการสร้างนั้นเป็นลักษณะเดียวกับรูปแบบเจดีย์ในต้นยุคล้านนา ตรงตามอายุในสมัยการก่อสร้าง ประมาณ พ.ศ. 1875 ความสูง 21 เมตร โดยได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในปี 2554 เช่นเดียวกันกับเจดีย์หลวง โดยมีเพียงยอดเจดีย์เกิดการเอียงและมีรอยแตก" ผศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าวว่า การวิจัยโดยใช้แบบจำลองแผ่นดินไหว ของ 5 รอยเลื่อน ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ประกอบด้วยรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อน Namma และรอยเลื่อน Meng Xing ซึ่งแปรผันไปตามระยะห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว Rrup (km) กับขนาดแผ่นดินไหว พบว่า หากรอยเลื่อนทั้ง 5 รอยนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ในระดับ 6.8 - 7.1 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานเมืองเชียงแสนค่อนข้างสอดคล้องกับความเสียหายที่พบเนื่องจากแผ่นดินไหวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่หากแผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น มากกว่า 7.5 เนื่องจากรอยเลื่อนต่างๆ รอบเมืองเชียงแสน โบราณสถานต่างๆ ในเมืองเชียงแสนควรจะได้รับความเสียหายมากกว่าที่พบเห็นในปัจจุบัน แต่หาก รอยเลื่อนแม่จัน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ในระดับ 6.8 ความเสียหายควรจะมากเพียงพอจนโบราณสถานเหล่านี้ไม่น่าจะคงอยู่ได้ในลักษณะสมบูรณ์ เช่นดังปัจจุบันจึงเชื่อได้ว่ารอยเลื่อนแม่จันยังคงเป็น บริเวณที่มีแนวโน้มสูงในการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

แนวทางการรับมือ ในด้านธรณีวิทยา ควรศึกษารอยเลื่อนแม่จันเพิ่มขึ้นเพื่อทำนายอายุคาบการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนแม่จันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในด้านวิศวกรรมควรเตรียมความพร้อม พัฒนาเมืองที่คงทนยืดหยุ่นและฟื้นตัวง่าย (Resilient City) เช่น การให้ความรู้การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวตามหลักวิศวกรรม ระบบการกู้ภัยแผ่นดินไหว การฟื้นฟูเมืองหลังแผ่นดินไหว ให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการเอาตัวรอดในภาวะ การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล สะพาน เพื่อให้สามารถทำงานภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ และควรมี “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ทุกคนสามารถมาพักพิงได้โดยอาคารเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมจากแผ่นดินไหวได้

ด้านโบราณคดี จะมีการอนุรักษ์โบราณสถานอันเก่าแก่ซึ่งเป็นมรดกชาติและมรดกโลกไว้อย่างไร ให้ยืนยาว โดยต้องร่วมศึกษาถึงกรรมวิธีก่อสร้างและวัสดุโบราณ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาผสมผสานอย่างเหมาะสมเพื่อให้มั่นคงแข็งแรง แต่ยังคงมิติคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และศิลปะความงามดั้งเดิมไว้ หากมีการบูรณะซ่อมแซม ควรคำนึงถึงผลกระทบของรูปลักษณ์ที่จะขัดต่อความเป็นมรดกโลกด้วย





กำลังโหลดความคิดเห็น