กสศ. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนยากจนได้รับทุนอุดหนุนพื้นที่เพชรบุรี ใช้ระบบ iSEE ฐานข้อมูลแม่นยำ ช่วยเด็กเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา
โรงเรียนบ้านเนินรัก จ.เพชรบุรี โรงเรียนหนึ่งที่มีนักเรียนได้รับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งได้ใช้ระบบพัฒนาระบบข้อมูลพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ช่วยคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพื่อเข้าช่วยเหลือได้ตามความจำเป็นและมีความเฉพาะเจาะจง
ล่าสุด ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนทุนเสมอภาคและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นบ้านของ ด.ช.ปกรณ์เกียรติ แก้วจินดา หรือ น้องจิม อายุ 6 ปี นักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านเนินรัก จ.เพชรบุรี พบว่า ปัจจุบัน ด.ช.ปกรณ์เกียรติ อาศัยอยู่กับแม่และพี่ชายรวม 3 คน ส่วนพ่อหย่าร้างกับแม่มา 7 ปี รายได้หลักมาจากแม่รับจ้างต้มหมูวันละ 300-400 ตัว ในโรงฆ่าหมูแถวบ้านมานาน 7 ปี รายได้เฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับสุขภาพในแต่ละวัน รายได้ไม่เพียงพอยังนำรถจักรยานยนต์ไปจำนองไว้ 4,000 บาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวและรักษาตัวเอง
ก่อนหน้านี้แม่ ด.ช.ปกรณ์เกียรติ ทำอาชีพเก็บขยะจนกระทั่งร่างกายได้รับการติดเชื้อที่ผิวหนังลุกลามไปถึงสมอง เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่นานกว่าครึ่งเดือน ผ่านการใช้สิทธิประกันสังคม ล่าสุดเพิ่งออกจากโรงพยาบาลเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา หมอสั่งห้ามไปเก็บขยะอีก เกรงว่าจะกลับมาติดเชื้อเหมือนเดิม พร้อมกับให้ยามากินจำนวนมาก จากฤทธิ์ของยายังส่งผลทำให้แม่ของด.ช.ปกรณ์เกียรติ วิงเวียนหัว ร่างกายย่ำแย่ และยังเป็นโรคฮีทสโตรกเป็นประจำตอนนี้ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างหนัก บางครั้งตอนหยุดงานขาดรายได้
ส่วนเรื่องที่พักอาศัยครอบครัว ด.ช.ปกรณ์เกียรติ อยู่ในเพิงสังกะสีเก่า ผนังบ้านปะด้วยสังกะสีผุๆ ปลูกอยู่บนที่ดินของญาติ ส่วนเรื่องสุขอนามัยบ้านไม่มีห้องน้ำ ใช้น้ำบาดาล ไฟฟ้าไม่มี อาศัยพ่วงไฟฟ้าจากบ้านใกล้เคียงใช้เป็นครั้งคราว ส่วนการเดินทางไปโรงเรียนของ ด.ช.ปกรณ์เกียรติ แม่จะขับรถจักรยานยนต์ไปส่งทุกวัน ระยะทางห่างจากบ้านพักประมาณ 7 กิโลเมตร ตอนนี้ครอบครัวอยากได้รับการปรับปรุงบ้านใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม รวมถึงทุนการศึกษาเนื่องจากรายได้ครอบครัวไม่พอค่าใช้จ่ายลูก
"รู้สึกดีใจมาก หากลูกชายจะได้รับทุนการศึกษา เพราะลำพังตนเองคงไม่มีเงินที่จะส่งเสียให้เขาได้เรียนจบสูงๆ มีการมีงานทำที่ดี ต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่านอีกครั้งที่ช่วยเหลือลูก" แม่ของน้องจิม ระบุ
ขณะที่บ้านของ ด.ญ.กมลชนก ทองเปี่ยม หรือ น้องบีม อายุ 8 ปี เป็นนักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านเนินรัก จ.เพชรบุรี ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข พบว่า ด.ญ.กมลชนก อาศัยอยู่กับป้าเป็นหลักตั้งแต่เล็ก ส่วนพ่อแม่หย่าร้างกัน พ่อรับจ้างทำงานอยู่โรงเหล็กในจังหวัดเพชรบุรี ส่วนแม่รับจ้างทำงานอยู่จังหวัดนครปฐม ส่งค่าใช้จ่ายมาให้เป็นครั้งคราวเฉลี่ย 1,000-1,500 บาทต่อเดือน แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ส่งมาบ้านของ ด.ญ.กมลชนก มีคนอาศัยรวมกัน 7 คนอย่างแออัด ปัจจุบัน ด.ญ.กมลชนก มานอนอยู่กับป้า ถ้าวันไหนพ่อกลับมาบ้าน ด.ญ.กมลชนก จะมานอนกับพ่อ ส่วนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมาจากป้าเป็นหลัก ที่มีอาชีพรับจ้างเย็บผ้าส่งโรงงานตามออเดอร์ สุขอนามัย มีห้องน้ำเก่า บ้านปะมุงด้วยสังกะสี
ด.ญ.กมลชนก มีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ ตอนนี้ป้าเป็นห่วงเรื่องการศึกษาต่อ และกังวลเงินไม่เพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน ต้องการให้หลานเรียนจบสูงๆ ซึ่ง ด.ญ.กมลชนก เป็นหัวหน้าห้อง ชอบทำกิจกรรม มีความสามารถพิเศษ รำไทย ทางโรงเรียนจะนำไปแสดงอยู่เป็นประจำ
“ตอนนี้ป้าเป็นห่วงเรื่องการศึกษาต่อ และกังวลเงินไม่เพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน ต้องการให้หลานเรียนจบสูงๆ ซึ่งหลานเป็นหัวหน้าห้อง ชอบทำกิจกรรม มีความสามารถพิเศษ รำไทย ทางโรงเรียนจะนำไปแสดงอยู่เป็นประจำ” ป้าน้องบีม กล่าว
ด้าน ด.ญ.กมลชนก กล่าวว่า "ครอบครัวหนูมีฐานะยากจน หนูจะตั้งใจเรียนหนังสือสูงๆ หนูชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรียนจบไปอยากเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ และขอขอบคุณคุณกองทุน กสศ. ที่มาช่วยเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาให้กับหนู"
ทั้งนี้ นักเรียนที่ครอบครัวฐานะยากจนในพื้นที่เพชรบุรีมีจำนวนมาก พบมีอยู่ 18 โรงเรียน และมีนักเรียนที่เข้าเงื่อนไขนักเรียนยากจน ประมาณ 535 คน โดยใช้ระบบ iSEE ของ กสศ. ในการค้นหา ถือเป็นฐานข้อมูลที่ตรงกับสภาพปัจจุบันมากที่สุด และตรงกับเงื่อนไขที่ภาคเอกชนต้องการช่วยเหลือสนับสนุน ซึ่งสามารถจะออกแบบโครงการทั้งจังหวัด กลุ่มอำเภอ หรือระดับต่างๆ ได้ โดยฐานข้อมูลจะสามารถติดตามผลการเรียนของเด็กว่าเด็กยังได้รับการศึกษาอยู่หรือไม่ หรือหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วด้วย
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้ครอบครัวยากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า กสศ.พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE เพื่อการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความเสมอภาคและมีประสิทธิภาพสูงสุด และวันนี้ยังนี้ได้ช่วยชี้เป้าตอบโจทย์ CSR ของภาคธุรกิจ โดยเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ 1.ชี้เป้าโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดในรัศมีชุมชนโดยรอบกิจการของภาคเอกชน เพื่อร่วมบริจาค เติมความช่วยเหลือ 2. ชี้เป้านักเรียนยากจนพิเศษจาก 100 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ( พื้นที่เกาะ พื้นที่สูง และพื้นที่ห่างไกล ชุมชน) ซึ่งการสนับสนุนสามารถเลือกได้เป็น ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ หรือสมทบทุนการศึกษา
กองทุน กสศ. เองนั้น ไม่ได้ให้ทุนอุดหนุนแล้วจบ แต่ได้ติดตามผลชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนว่าเป็นอย่างไร เช่นนี้แล้ว เป้าหมายในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป.