โดย...รศ.พญ.นันทกร ทองแตง ผศ. นพ. พรพจน์ เปรมโยธิน ภาควิชาอายุรศาสตร์
โรคอ้วนเป็นปัญหาสำคัญที่พบมีอุบัติการณ์สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และอาหารในปัจจุบันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะดังกล่าว การรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายรับประทานอาหารจุกจิก หลายมื้อ หรือรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ (ให้พลังงาน) สูง ร่วมกับการมีกิจกรรมทางกายลดลง และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การใช้เครื่องผ่อนแรงต่าง ๆ เช่น บันไดเลื่อน ลิฟต์ หรือยานพาหนะ ทำให้มีกิจกรรมทางกายลดลง เดินน้อยลง นอกจากโรคอ้วนจะเป็นปัญหาของผู้ใหญ่แล้วในปัจจุบันยังพบเด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย หากมีโรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) จะส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ได้แก่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคอ้วน และโรคอ้วนลงพุง
โรคอ้วนสามารถวินิจฉัยได้จากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) โดยใช้ น้ำหนัก หารด้วยส่วนสูง หน่วยเป็น เมตร ยกกำลังสอง [BMI = น้ำหนัก (กก) / ส่วนสูง (ม)2 ] หากมีค่าดัชนีมวลกาย ≥ 23 กก./ม2 จัดว่ามีน้ำหนักตัวเกิน (overweight) และ หากมีค่าดัชนีมวลกาย ≥ 25 กก./ม2 จัดว่ามีโรคอ้วน สำหรับโรคอ้วนลงพุง สำหรับคนไทย เส้นรอบเอวเพศชาย ไม่ควรมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) และ เพศหญิง ไม่ควรมีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว)
วิธีการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย และได้ผล
การลดน้ำหนัก ประกอบด้วย การคุมอาหารและการออกกำลังกาย หรืออาจพิจารณาใช้ยาลดน้ำหนักร่วมด้วย สําหรับการผ่าตัดลดน้ำหนัก มีข้อบ่งชี้เฉพาะผู้มีดัชนีมวลกาย ≥ 40 กก./ม2 หรือ เกิน 35 กก./ม2 ที่มีภาวะโรคเรื้อรังที่เกิดจากความอ้วน ( obesity related comorbidities) ร่วมด้วย
หากลดแคลอรี่จากอาหารที่รับประทานลงประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน จะสามารถลดน้ำหนัก ได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ ครึ่ง กก. หรือ 1-2. กก. ต่อเดือน สูตรอาหารลดน้ำหนักมีหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักในระยะสั้นแตกต่างกันบ้าง แต่มีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักในระยะยาวได้คล้ายคลึงกัน หากสามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามผู้เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์หากจะลดน้ำหนักโดยใช้สูตรลดแป้ง หรือโลว์คาร์บ (low carbohydrate) และ สูตรอาหารคีโตเจนิค (ketogenic diet) เนื่องจากอาจมีความจําเป็นต้องปรับยาเบาหวานเพื่อลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ และเฝ้าระวังการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (DKA) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
เมื่อลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารไปสักพักหนึ่ง น้ำหนักจะลดช้าลง เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ทําให้ลดน้ำหนักได้ผลดีกว่าการคุมอาหารเพียงอย่างเดียว เมื่อลดน้ำหนักได้ตามที่ต้องการแล้ว ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาน้ำหนักไว้ ไม่ให้น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นอีก หรือที่เรียกว่า “ภาวะโยโย่” การมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ทำได้ง่ายๆ โดยการเดินเพิ่มขึ้น อาจเป็นการเดินพื้นราบ เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน ถีบจักรายานเมื่อต้องการเดินทางระยะสั้น ๆ จะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกาย และลดมลภาวะจากน้ำมันรถได้อีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาในสื่อต่าง ๆ และอ้างถึงสรรพคุณในการลดน้ำหนักนั้น ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ยา แต่จัดเป็น “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ซึ่งจัดเป็นอาหารประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กล่าวคือ องค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านั้น ร่างกายสามารถได้รับจากการรับประทานอาหารโดยทั่วไป แม้ว่ารูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใกล้เคียงกับยา แต่ไม่ใช่ยา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกายได้ และไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาความเจ็บป่วยหรือโรคใด ๆ ได้
การใช้ยาลดน้ำหนักควรใช้ภายใต้คําแนะนําของแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยติดตามผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากยาลดน้ำหนักบางชนิดมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและอารมณ์ เช่น ยาเฟนเทอร์มีน (phentermine) เป็นอนุพันธ์ของสารแอมเฟตามีน ออกฤทธิ์ต่อสมองทําให้ลดความอยากอาหาร เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีผลข้างเคียงทําให้ปากคอแห้ง ใจสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และได้รับการรับรองให้ใช้ในระยะสั้น กล่าวคือ ไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น ส่วนยาลดน้ำหนักชนิดฉีด เช่น ยาลิรากลูไทด์ (liraglutide) อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
โดยสรุปหลักการสำคัญของการลดน้ำหนัก ประกอบด้วย การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยพยายามลุกขึ้นเดิน แทนที่จะนั่งตลอด ซึ่งการควบคุมอาหารนี้ไม่ได้หมายถึง การอดอาหาร แต่เป็นการควบคุมให้ปริมาณแคลอรี่ที่รับเข้าไปสมดุลกับที่พลังงานถูกนำไปใช้ ฝึกการกินให้เป็นเวลา วันละ 3 มื้อ และ ไม่กินพร่ำเพรื่อระหว่างมื้อ ลดของหวาน ขนมหวาน และน้ำหวานต่าง ๆ การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากหากใช้ผิดวิธีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้