"ม.ร.ว.จัตุมงคล" ถือฤกษ์วันเข้าพรรษา 09.09 น. เข้ารับตำแหน่ง รมว.แรงงานวันแรก เผยค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทไม่มาก อยากให้ได้ทุกคน แต่ขอดูมีผลกระทบอะไรบ้าง โยน "ไตรภาคี" พิจารณา เชื่อไม่ทันแถลงนโยบายรัฐบาล เหตุต้องใช้เวลา และปกติจะขึ้นค่าจ้างตอนปีใหม่ เล็งขับเคลื่อนยกระดับทักษะแรงงาน ลั่นคุณสมบัติตัวเองดี ไม่กลัวฝ่ายค้านอภิปราย
วันนี้ (17 ก.ค.) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถือฤกษ์วันเข้าพรรษา เวลา 09.09 น. ทำการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพ่อปู่ชัยมงคล ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ ศาลพ่อปู่สุชินพรหมมา เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการวันแรก หลังถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่่ผ่านมา โดย มีนายจักษ์ พันธ์ชูเพชร กรรมการบริหารรวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่าที่ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน และ พล.ท.นันทเดช เมฆสวรรค์ กรรมการบริหารพรรค รปช. ว่าที่เลขานุการ รมว.แรงงาน และ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค รปช. มาร่วมสักการะด้วย
จากนั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้ขึ้นไปยังห้องทำงาน รมว.แรงงาน พร้อมสักการะพระพุทธรูปในห้อง และลงนามในแฟ้มเอกสาร โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวให้โอวาทแก่ข้าราชการประจำกระทรวง ว่า ภารกิจด้านแรงงานถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในทุนมนุษย์ ที่ต้องสอดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการผลิต รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานด้านแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ และเรื่องของการประกันสังคม ตนเชื่อมั่นว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ รวมถึงมีความเสียสละ และมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่จะให้แรงงานและประชาชนคนไทยทุกคนมีงานทำ มีศักยภาพสูง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ภารกิจแรกที่จะดำเนินการจะเป็นการสานต่องานของ พล.ต.อ.อดุลย์แสงสิงแก้ว อดีต รมว.แรงงานคนก่อน เนื่องจากตนเองไม่ได้คาดหวังว่าจะได้มาทำงานที่กระทรวงแรงงาน จึงต้องขอเวลาศึกษางานก่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคืออยากให้มีการทำงานโดยการตั้งเป้าหมายและกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างชัดเจน เช่น ในอีก 30 ปีข้างหน้าต้องการที่จะเห็นอะไร และจะทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมายนั้น และสิ่งสำคัญสำหรับปัญหาแรงงานในประเทศไทย คือ การต้องเปลี่ยนแปลงแรงงานจากระดับกลางให้เป็นแรงงานทักษะของประเทศ หรือที่ต่างชาติเรียกว่า Work Force Transformation โดยจะต้องมีนักวิชาการ (Technical) มาช่วยกันทำงานตรงนี้ด้วย
เมื่อถามถึงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า เงินจำนวน 400 บาทไม่ได้เป็นเงินที่มากมายอะไร ก็อยากให้ทุกคนได้รับค่าแรง แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับว่ามีต่อนายจ้าง ภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างไร เพราะสุดท้ายเมื่อมีลกระทบมากก็จะเกิดผลกระทบกลับไปยังลูกจ้าง เพราะหากนายจ้างอยู่ไม่ได้จากการต้องถูกขึ้นดอกเบี้ยต่างๆ ก็อาจมีการเลิกจ้าง เรื่องนี้จึงต้องให้คณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ร่วมกันพิจารณา ซึ่งเป็นกลไกตามปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าการพิจารณาของไตรภาคีไม่น่าจะทันการแถลงนโยบายของรัฐบาลแน่นอน แต่ไม่ใช่การไม่ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ต่อประชาชน ตามที่มีพรรคการเมืองหาเสียงไว้ ซึ่งค่อยๆ ทำก็ได้ หากขึ้นทั้งหมดทีเดียวไม่ได้ ก็ค่อยๆ ขึ้น หรือขึ้นเป็นบางพื้นที่ ซึ่งตามปกติของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็คือช่วงปีใหม่
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ส่วนเรื่องการรับมือการอภิปรายนโยบายรัฐบาลนั้น ไม่ต้องรับมืออะไรเพราะพรรคตนมีตนเพียงคนเดียวที่เป็นรัฐมนตรี ไม่เหมือนพรรคอื่นที่มีรัฐมนตรีเป็นสิบคน และหากตนมีปัญหาก็ยังมีคนอื่นในพรรคที่เป็นแทนได้
เมื่อถามว่าฝ่ายค้านจ้องอภิปรายคุณสมบัติรัฐมนตรีมีความกังวลหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะคุณสมบัติตัวเองดีมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เตรียมเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล เพื่อขอทราบและติดตามนโยบายที่ รมว.แรงงานคนใหม่จะดำเนินการต่อไป
สำหรับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2486 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนที่ 15 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย Harrow School England Trinity College Cambridge U.(Mechanical Sciences and Economics Tripos) Kennedy School, Harvard U. (Public Finance and Economics Development) ได้รับปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 31
เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกรโท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐกรเอก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการกองนโยบายภาษีอากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รองอธิบดีกรมสรรพากร รองปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากร ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้แก่ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว) มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) และเหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)