xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรค เผย "ไข้เลือดออก" ชะลอตัว เหตุหลายพื้นที่คุมได้ดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค เผยยอดป่วยไข้เลือดออก 4.4 หมื่นราย น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ภาพรวมโรคชะลอตัว เหตุหลายพื้นที่ควบคุมได้ดี ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ย้ำไม่มีโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่

วันนี้ (16 ก.ค.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีข่าวเด็กหญิงเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ใน จ.กาฬสินธุ์ ว่า ยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนพบโรคไข้เลือดออกได้ 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่า เคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในฤดูฝน เป็นช่วงที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ ป่วย 92,267 ราย เสียชีวิต 398 ราย เวียดนาม ป่วย 81,132 ราย มาเลเซีย ป่วย 62,421 ราย เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 9 ก.ค. 2562 พบผู้ป่วย 44,671 ราย เสียชีวิต 62 ราย มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 4,269 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในปีนี้พบในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบมากสุด คือ กลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-34 ปี และแรกเกิด-4 ปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และทุกฝ่ายช่วยกันรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำให้สถานการณ์การเกิดโรคชะลอลง จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในหลายพื้นที่ลดลง และมีอีกหลายพื้นที่ป้องกันโรคได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ เช่น พิษณุโลก พิจิตร และสมุทรสงคราม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อควบคุมโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง ทำให้การเกิดโรคชะลอลง ลดลง หรือจนควบคุมได้ แต่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ในบางพื้นที่ยังมีฝนตก ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ รวมถึงภาชนะที่ใช้เก็บกักน้ำในบ้าน อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ที่สำคัญประชาชนควรเตรียมความพร้อม 3 เรื่อง คือ 1.ป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 2.เฝ้าระวังอาการของโรค คือ มีไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีผื่นหรือจุดเลือดขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา และข้อพับ และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้


กำลังโหลดความคิดเห็น