xs
xsm
sm
md
lg

ไขข้อข้องใจ "โรคลายม์" ทำสาวเที่ยวตุรกีความจำหาย หมอชี้อย่ากังวล ไม่ใช่โรคประจำถิ่นไทย มียารักษา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค ชี้ "โรคลายม์" ไม่ใช่โรคประจำถิ่นไทย อย่ากังวลจนเกินไป ระบุไม่มีรายงานป่วยในไทยมาก่อน เห็บไทยเสี่ยงต่ำที่มีเชื้อนี้ ส่วนความจำหาย อาจเกิดจากเชื้อไปสู่สมองส่วนความจำ ทำให้เกิดความเสียหาย หากไปหัวใจทำให้ในเต้นผิดปกติ ย้ำมียาปฏิชีวนะรักษาได้

จากกรณี นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ประจำ รพ.วิชัยยุทธ โพสต์เรื่องราวของหญิงสาววัย 47 ปีรายหนึ่งที่ไปเที่ยวประเทศตุรกี หลังจากนั้นกลับมาป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์ตรวจวินิจฉัยพบว่าเป็น "โรคลายม์" (Lyme Disease) โดยได้ทำการรักษาใน รพ. 2 เดือน จนผู้ป่วยดีขึ้น หลังจากนั้นอีก 5 เดือน กลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่ความจำบางส่วนหายไป โดยจำจำไม่ได้ว่าเคยไปเที่ยวประเทศตุรกี

วันนี้ (16 ก.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโรคลายม์ ว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า โบเรลเลีย (Borellia) การติดต่อสู่คนเกิดจากการถูกเห็บที่มีเชื้อนี้กัด สำหรับประเทศไทยยังไม่พบการรายงานป่วยจากโรคนี้มาก่อน มีเพียงการทบทวนว่ามีการศึกษาหนึ่งที่มีเพียงสัตว์ตัวเดียวที่ตรวจเจอ จากนั้นก็ไม่มีรายงานไหนอีกที่บอกว่าเกิดการติดเชื้อนี้จากประเทศไทยเลย นั่นคือ ความเสี่ยงที่ว่าเห็บในไทยจะมีเชื้อตัวนี้ค่อนข้างต่ำมาก จึงไม่ต้องเป็นกังวลกับโรคนี้มากนัก ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ติดต่อจากคนสู่คน ส่วนอาการหลังรับเชื้อ จะมีระยะเวลาฟักตัว 2-4 สัปดาห์ บางคนอาจสั้นกว่า ซึ่งการถูกเห็บกัดจะคล้ายกับการถูกแมลงกัดตามปกติ คือ จะมีรอยบวมแดงที่ถูกกัด บางคนมีรอยเป็นผื่นวงกลม และเนื่องจากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็จะมาด้วยเรื่องอาการไข้ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นต้น

"บางส่วนหลังจากผ่านในช่วงแรกไป มักจะไม่ค่อยมีอาการอื่น แต่จะมีจำนวนหนึ่งที่เชื้อมีการลุกลามหรือแพร่ไปสู่อวัยวะอื่น ทำให้หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนต่อมา จะมีอาการของอวัยวะอื่นๆ ตามมา เช่น ปวดข้อ มักจะเป็นมากกว่า 1 ข้อ หรือหากเชื้อไปที่หัวใจ ก็จะมีอาการเต้นผิดปกติ บางรายไปสู่สมอง ทำให้สมองอักเสบ บางครั้งถ้ารับการรักษาไปแล้ว อาจจะมีผลตกค้างอันเนื่องจากสมองถูกการติดเชื้อทำให้มีความผิดปกติที่อาจจะถาวรหรือกึ่งถาวร ถ้าไปอยู่ตรงตำแหน่งความจำ ก็อาจทำให้ความจำหายไป หรือบางรายที่ไปเกี่ยวกับเรื่องจุดที่ควบคุมทำหน้าที่ต่างๆ ก็จะมีอาการไปตามนั้น" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคนี้มียารักษาให้หายได้ เพราะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ยาปฏิชีวนะ ไม่ว่าจะเป็นดอกซีไซคลีน อะม็อกซีซีลลิน หรือกลุ่มเซฟาโลสปอริน ก็สามารถที่จะฆ่าเชื้อตัวนี้ได้ ซึ่งการวินิจฉัยหาโรคนี้ทำได้ โดยดูประวัติว่าเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการรายงานโรคหรือมีเชื้อนี้เป็นโรคประจำถิ่น และมาด้วยเรื่องอาการไข้ เมื่อทำการตรวจร่างกาย หากสงสัยโรคนี้ก็ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถตรวจระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อแบคทีเรียตัวนี้และนำมาประกอบการยืนยันวินิจฉัยได้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เห็บปกติจะอยู่ในสัตว์ การที่กระโดดหรือหลุดมากัดคนได้ มักเป็นเหตุบังเอิญ หรือเราเข้าไปคลุกคลีกับสัตว์ที่มีเห็บนี้อยู่ ก็มีโอกาสที่เห็บจะกระโดดมากัดเราได้ นอกจากนี้ เห็บยังมีการหากินอาศัยตามพุ่มไม้ต้นไม้ การไปเดินป่าที่มีเห็บอยู่อาศัยก็มีโอกาสที่เห็บกัดได้เช่นกัน ดังนั้น การป้องกัน คือ ควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยง สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดในการไปจุดที่มีโอกาสหรือมีความเสี่ยง และการไปท่องเที่ยวในแต่ละวันควรตรวจดูว่า มีรอยนูนแดงหรือไม่ที่เกิดจากถูกสัตว์ แมลง หรือเห็บกัดหรือไม่ หากมีก็อาจขอคำแนะนำจากแพทย์หรือพบแพทย์ตรวจ ไม่ว่าจะอยู่ในต่างประเทศหรือเดินทางกลับมาไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม หากถูกเห็บกัดแนะนำว่า 1.ทำความสะอาดบาดแผล ใส่ยา และขอคำแนะนำจากแพทย์ 2.เห็บอาจไม่ได้ก่อโรคโดยตรง แต่การถูกกัด บางคนจะไปเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มเติม กลายเป็นผิวหนังอักเสบ เนื้อเยื่ออักเสบ กลายเป็นแผลหนองหรือติดเชื้อในกระแสโลหิตตามมา บางคนภูมิต้านทานไม่ค่อยดี เมื่อเป็นแผลก็มีการลุกลาม ดังนั้น การถูกสัตว์เล็กๆ น้อยๆ กัดพวกนี้ ให้ดูแลแผลถือเสมือนมีโอกาสติดเชื้อได้เสมอ ก็จะมีความปลอดภัย

"การเกิดโรคติดเชื้อจากต่างประเทศมีหลายโรค อย่าไปกังวลว่าโรคนี้หรือโรคไหน เพราะเวลาไปต่างประเทศแล้วไปติดโรคกลับมามีหลายโรค ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าคนไทยที่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ ต้องรู้ว่าประเทศนั้นมีคำแนะนำอย่างไร โรคประจำถื่นอะไร เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันตนเองได้ถูก เช่น แอฟริกามีไข้เหลือง ก็ต้องฉีดวัคซีนไข้เหลืองไป และระมัดระวังดูแลตนเอง หรือไปคองโกที่มีอีโบลา ก็ต้องรู้วิธีป้องกันตนเอง และหากไปประเทศที่มีโรคประจำถิ่น เมื่อกลับมาแล้วมีความผิดปกติไม่สบาย ไปพบแพทย์ต้องให้ประวัติว่า กลับมาจากประเทศอะไร มีพฤติกรรมอย่างไรเมื่ออยู่ในประเทศนั้น จะช่วยให้นำมาประกอบการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะทำให้วินิจฉัยแยกโรคได้เร็ว" นพ.สุวรรณชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น