xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรค ชี้ "พยาธิตืดหมู" ฝังตัวได้หลายอวัยวะ รวมถึงลิ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค แจง พยาธิตืดหมู" ฝังที่ลิ้นได้ ชี้หากกินไข่พยาธิเข้าไป อาจไปอยู่ตามลำไส้ หรือไปฝังตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย แนะพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย ให้ยาฆ่าพยาธิที่ถูกต้อง ระบุยาปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูง

สยอง! เตือนภัยสายผักดิบ กินจนพยาธิตืดหมูฝังลิ้น ชี้สาเหตุเกิดจากผักไม่สะอาดพอ

วันนี้ (13 ก.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสาวรายหนึ่งมีซีสต์พยาธิตืดหมูฝังอยู่ในลิ้น ว่า พยาธิตัวตืดพบได้ในสัตว์ เช่น หมู โค กระบือ รวมถึงสิ่งแวดล้อม ส่วนพบในมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดจากการกินไข่พยาธิเข้าไป โดยจะเข้าไปอยู่ในลำไส้ ซึ่งสามารถกินยาถ่ายพยาธิออกมาได้ และการเข้าไปฝังอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง กล้ามเนื้อ หรือลิ้นตามที่เป็นข่าว การเกิดโรคขึ้นอยู่กับว่าพยาธิตืดหมูเข้าไปฝังอยู่ที่อวัยวะใด เช่น ฝังที่สมองอาจทำให้เกิดอาการชัก เคลื่อนไหวผิดปกติ หากฝังที่กล้ามเนื้ออาจจะเกิดการอักเสบ บวมแดง เป็นต้น ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้ยาฆ่าพยาธิ ซึ่งปัจจุบันมีประสิทธิภาพมาก

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า พยาธิตืดหมู มีลักษณะเป็นเส้นแบนๆ ข้างในเต็มไปด้วยไข่พยาธิ หากตัวมันแตก ไข่พยาธิก็จะออกมา และมีลักษณะเป็นถุงซีสต์ที่ข้างในเป็นตัวอ่อน ซึ่งอยู่ทั้งในธรรมชาติ ผัก ผลไม้ ดังนั้น คนเราจึงมีโอกาสติดพยาธิตืดหมูได้เสมอ ผ่านการกินอาหารที่มีไข่พยาธิติดอยู่ สิ่งสำคัญ คือ ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อต่างๆ ผัก ผลไม้จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ กรณีเนื้อจะต้องทำความสะอาด ปรุงให้สุกก่อนกิน ส่วนผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาดก่อนกิน เพราะบางอย่างต้องกินสดๆ นอกจากนี้ ต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ เพราะในธรรมชาติก็มี จึงต้องยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เช่นเดียวกับผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากไม่แน่ใจว่ามีพยาธิในร่างกายหรือไม่ ให้สังเกตตัวเองว่ามีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายหรือไม่ น้ำหนักตัวลดผิดปกติหรือไม่ หากมีปัญหาการซื้อยาถ่ายพยาธิกินเองก็ช่วยได้ส่วนหนึ่งกรณีที่พยาธิอยู่ในล้ำไส้ แต่บางส่วนที่อาจจะไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ดังนั้น หากมีปัญหาหรือไม่แน่ใจสามารถไปพบแพทย์ให้ตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ยาฆ่าพยาธิที่มีประสิทธิภาพ เพราะต้องบอกว่าไม่ได้มีเพียงพยาธิตืดหมู ยังมีพยาธิชนิดอื่นๆ ด้วย แพทย์จะได้ให้ยาที่ถูกต้องได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบสุขาภิบาลและระบบสุขภาพของไทยดีขึ้นมาก ขับถ่ายอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหาพยาธิลดลงไปมาก แต่ต้องยอมรับว่ายังมีอยู่ อาทิ พยาธิตัวตืด พยาธิตัวจี๊ด พยาธิแส้ม้า พยาธิไส้เดือน เป็นต้น โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่ระบบสุขาภิบาลไม่ค่อยดี เช่น ดอย ชายแดน แหล่งที่ประชาชนยังไม่มีความรู้ในแง่นี้มาก หรือผู้ประกอบการด้านเนื้อ ผัก ผลไม้ บางส่วนที่ยังไม่ถูกสุขลักษณะ


กำลังโหลดความคิดเห็น