xs
xsm
sm
md
lg

ระดมวิศวกร 100 ชีวิต ตรวจปูนทุกแผ่น 23 สถานี "บีทีเอส" ให้เสร็จใน 3 วัน จ่อติดแผงกันตก "สุรศักดิ์-ทองหล่อ" ปีนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รองผู้ว่าฯ กทม. ตรวจความปลอดภัย "บีทีเอส" เผยจัดรถกระเช้า 16 คัน กระบะ 8 คัน วิศวกรร่วม 100 ชีวิต ปูพรมตรวจแผ่นปูนทั้ง 23 สถานี ประสานนครบาลปิด 1 เลนตอนกลางคืน ลั่นทำให้เสร็จ 14 ก.ค.นี้ หากพบไม่ปลอดภัย ถอดออกทันที เล็งชงเปลี่ยนวัสดุในระยะยาว จ่อติดแผงกันตกเพิ่ม 2 สถานี "สุรศักดิ์-ทองหล่อ" ปีนี้

วันนี้ (12 ก.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงพื้นที่ตรวจระบบความปลอดภัยของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอารีย์และสะพานควาย หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นบัวกันน้ำของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอารีย์ร่วงหล่น เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ

นายสกลธี ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยม ว่า ตัวบัวกันและสิ่งของไม่ให้ตกจากสถานีลงไปข้างล่าง เป็นปูนที่ยึดด้วยเหล็ก สาเหตุที่แผ่นปูนตกลงมานั้น ทางบีทีเอสชี้แจงว่า เกิดจากเหล็กที่ยึดปูนไว้เป็นสนิม ซึ่งเรื่องเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ว่าของที่ใช้นานๆ เมื่อน้ำซึมเข้าไปก็ทำให้ตัวเหล็กข้างในเกิดเป็นสนิมและร่วงตกลงไปได้ ทางบีทีเอสได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในวันที่เกิดเหตุ โดยให้เจ้าหน้าที่ทุกสถานีตรวจด้วยตาเปล่าเบื้องต้น ตรงไหนที่น่าจะมีปัญหาก็ได้แก้ไขไปทั้งหมดแล้ว ส่วนการตรวจอย่างละเอียดจะมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะใช้เวลาตรวจสอบทุกแผ่นนานเป็นเดือนและต้องปิด 1 ช่องจราจร แต่เนื่องจากเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอีดยทั้งหมด จึงได้มีการประสานไปยังตำรวจนครบาลในการปิด 1 ช่องจราจรช่วงเวลากลางคืน โดยจะดำเนินการให้เสร็จใน 3 วัน คือ วันศุกร์-อาทิตย์นี้

"การตรวจสอบแผ่นปูนอย่างละเอียดนั้น จะทำทั้งหมดใน 23 สถานี ของทั้ง 2 ข้างทางสถานี โดยจะใช้รถกระเช้าจำนวน 16 คัน รถกระบะ 8 คัน วิศวกรทั้งหมด 100 คน จะเร่งทำให้เสร็จในคืนวันอาทิตย์ ซึ่งการตรวจสอบจะทำการโยกดูทีละแผ่นว่าโยกคลอนมีปัญหารหรือไม่ หากมีปัญหาก็จะถอดออกก่อน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นและเร่งแก้ไขต่อไป คิดว่าเมื่อเสร็จสิ้นในวันอาทิตย์นี้ก็จะมีความปลอดภัย 100%" นายสกลธี กล่าวและว่า ส่วนในระยะยาวตนจะนำเรื่องนี้เข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการขนส่ง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.มอบตนเป็นประธาน ว่าระยะยาวอาจจะเปลี่ยนวัสดุจากปูนเกาะยึดเหล็กเป็นวัสดุอื่นที่มีน้ำหนักเบาขึ้น เช่น พลาสติก หรือยึดกับอะลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งมีความคงทน ไม่เป็นอันตรายหากเกิดเหตุตกลงไป

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องของความปลอดภัย ก่อนหน้านี้ก็จะมีตัวกันด้านข้างตลอดเส้นทางของรถไฟฟ้าที่เราได้แก้ไข เปลี่ยนเป็นสแตนเลสและยึดล็อกเอาไว้อย่างดีแล้ว ส่วนที่เกิดเหตุนี้ เราคาดไม่ถึง เพราะปูนยึดด้วยเหล็กถึง 4 จุด จึงมองไม่เห็นด้านใน ซึ่งอาจมีรอยแตกน้ำเข้าไปทำให้เกิดเป็นสนิมและเกิดเหตุขึ้นมา ซึ่งการตรวจอย่างละเอียดนั้น เราได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่เป้นพาร์ทเนอร์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ยืมรถกระเช้า 16 คัน ก็จะตรวจดูทั้ง 23 สถานี ตรวจดูดูทุกชิ้น หากมีปัญหาก็จะถอดออก ส่วนที่ตรวจเพียง 23 สถานี เพราะเป็นสถานีรถไฟฟ้าสายแรกที่ก่อสร้าง ซึ่งตอนนั้นคำนึงถึงการใช้เวลาในพื้นที่จราจรให้น้อยที่สุด จึงออกแบบโดยใช้วิธีหล่อปูนข้างนอกแล้วเอามายึด เพราะการหล่อปูนในพื้นที่จะมีน้ำปูนตกลงมา แต่ปัจจุบันการก่อสร้างส่วนขยายหรือรถไฟฟ้าสายอื่น มีการพัฒนาวิธีการก่อสร้างดีขึ้น จึงสามารถหล่อปูนในที่กั้นได้

เมื่อถามถึงการติดตั้งลิฟต์ผู้พิการตามคำสั่งศาล นายสกลธี กล่าวว่า กำลังทยอยติดตั้ง ซึ่งใกล้จะเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว ส่วนแผงกันตก ทางบีทีเอสระบุว่า กำลังทยอยทำในส่วนของสัมปทานเดิม โดยปี 2562 จะติดอีก 2 สถานี คือ สถานีสุรศักดิ์และสถานีทองหล่อ โดยใช้เงินของทางบีทีเอส โดยใช้งบประมาณสถานีละ 60 ล้านบาท ส่วนของใหม่ได้ติดทั้งหมดแล้ว








กำลังโหลดความคิดเห็น