xs
xsm
sm
md
lg

ผลตรวจ "ชานมไข่มุก" น้ำตาลสูงปรี๊ด เจอสารกันบูดทุกยี่ห้อ แต่ไม่เกินมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มพบ.เปิดผลตรวจ "ชานมไข่มุก" 25 ยี่ห้อ พบใส่น้ำตาลสูงเกินพิกัด มีเพียง 2 ยี่ห้อที่น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา ชี้ดื่มมากทำร่างกายพัง เสี่ยงอ้วน เบาหวาน ฟันผุ ส่วนสารกันบูดเจอทุกยี่ห้อแต่ไม่เกินมาตรฐาน ตรวจไม่พบตะกั่วในไข่มุก

วันนี้ (11 ก.ค.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แถลงข่าวผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูด "น้ำตาล" และ "โลหะหนัก" ในชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ ว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง มีราคาตั้งแต่แก้วละ 23-140 บาท เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน ทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว และสารกันบูดในเม็ดไข่มุก โดยพบว่า ชานมไข่มุกบางยี่ห้อมีน้ำตาลมากกว่า 19 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายควรจะได้รับต่อวัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม

"มีชานมไข่มุกเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้นที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม คือ ยี่ห้อ KOI the’ มี 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา และยี่ห้อ TEA 65 มีปริมาณน้ำตาล 22 กรัมหรือ 5.5 ช้อนชา ส่วนอีก 23 ยี่ห้อมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 29 กรัม หรือ 7.25 ช้อนชาขึ้นไปจนถึงสูงสุดที่ 74 กรัม หรือ 18.5 ช้อนชา คือ ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice " น.ส.สารี กล่าวและว่า ส่วนผลทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกในเม็ดไข่มุก พบทุกยี่ห้อแต่ไม่เกินมาตรฐาน โดยยี่ห้อที่มีสารกันบูดน้อยที่สุด คือ The Alley มีกรดซอร์บิก 58.39 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ส่วน BRIX Desert Bar พบมากที่สุด โดยปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกรวมกันเท่ากับ 551.09 มก./กก. ที่น่ายินดี คือ ทุกอย่างไม่พบตะกั่วในไข่มุกทุกยี่ห้อ

น.ส.สารี กล่าวว่า แม้สารกันบูดไม่ได้เกินมาตรฐาน แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้รับในปริมาณมาก ผู้ประกอบการจะต้องค้นหาแหล่งที่มาของสารกันบูดให้ได้ว่า ปริมาณสารกันบูดที่มีมากเกิดจากอะไร ส่วนปริมาณน้ำตาลที่สูงมาก เสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพ ข้อมูลเหล่านี้ไม่มียี่ห้อใดให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง อยากให้ผู้ประกอบการปรับลดขนาดปริมาณต่อแก้วลง เพราะขนาดของแก้วสัมพันธ์กับปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไป บางยี่ห้อมีราคาสูงมาก เมื่อซื้อชานมไข่มุกอาจบริโภคจนหมดแก้วเพราะเสียดาย และขอให้ผู้ประกอบการระบุฉลากให้ถูกต้องตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการใส่วัตถุเจือปนอาหาร หากไม่ระบุอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย รวมถึงเร่งผลักดันให้เกิดฉลากสัญญาณไฟจราจร เพื่อทำให้ผู้ประกอบการประบปรุงคุณภาพอาหารให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภค

น.ส.สารี กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อมูลการตลาดพบปัจจุบันตลาดชาไข่มุกทั่วโลกมีมูลค่า 6.5 หมื่นล้าน คาดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านในปี 2020 โดยไทยมีสัดส่วนการตลาดคิดเป็นมูลค่า 2 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทชานมไข่มุกยี่ห้อ Ochaya ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด 146 ล้านบาทและมี 360 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งผลวิเคราะห์พบมีปริมาณน้ำตาลต่อแก้ว 50 กรัม หรือ 12.5 ช้อนชา ส่วนปริมาณสารกันบูดรวม 291.76 มก./กก. เป็นกรดเบนโซอิก 160.21 มก./กก.และกรดซอร์บิก 131.55 มก./กก.

ทพญ.มัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการการโครงการฯ เครือข่ายไม่กินหวาน กล่าวว่า ชาไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในปัจจุบัน ตั้งแต่กลุ่มเด็กเยาวชนไปจนถึงวัยทำงาน ซึ่งชานมไข่มุกแก้วเดียวมีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วสูงมากถึง 19 ช้อนชาเกินกว่าปริมาณที่ควรจะได้รับถึง 3 เท่า อีกทั้งได้รับปริมาณเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ทำให้สถานการณ์ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมถึงโรคอ้วนและโรคฟันผุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฟันผุที่เป็นปัญหาส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่นจากการกินหวานมากเกินความจำเป็น

“ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ พยายามขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้รับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยลดปริมาณน้ำตาลลง พบว่ามีบางร้านเท่านั้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ จะไปห้ามก็ทำไม่ได้ เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ไปห้ามไม่ให้กินก็ไม่ได้ แต่ขอแนะนำให้ลดปริมาณการกินน้อยลง หากเลี่ยงได้ควรงดดื่ม ส่วนสารกันบูดทราบกันดีว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ไต และก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น หากรับปริมาณมากเกินกำหนด จะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการรุนแรงเสี่ยงต่อชีวิต” ทพญ.มัณฑนา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น