ป.เอก มหิดล คิดค้นนวัตกรรม พลาสติกจากแป้งสับปะรด ย่อยสลายได้ หวังต่อยอดทดแทนพลาสติก เพิ่มมูลค่าลำต้นสับปะรดจากขยะที่ต้องเผาทิ้งหลังเก็บเกี่ยว สร้างรายได้เกษตรกร
ดร.นิธิมา นาคทอง ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลงานนวัตกรรมพลาสติกย่อยสลายได้จากแป้งสับปะรด ว่า สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย มีพื้นที่การปลูกถึง 6 แสนไร่ แต่หลังเก็บเกี่ยว ใบและลำต้นจะกลายเป็นขยะ ต้องเผาและปลูกใหม่ทุก 2 ปี กลายเป็นต้นเหตุของมลภาวะทางอากาศ ทั้งนี้ ใบสับปะรดสามารถเอามาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ส่วน “ลำต้นสับปะรด” เมื่อสกัดแล้วมีแป้งถึงร้อยละ 30 จากน้ำหนักแห้ง หากนำลำต้นสับปะรดจาก 6 แสนไร่หลังเก็บเกี่ยวมาสกัด จะได้แป้งสับปะรดถึง 1 แสนตันต่อปี เมื่อขายในราคาเดียวกับแป้งมันสำปะหลังจะทำมูลค่าได้สูงถึง 1.5 พันล้านบาทต่อปี
ดร.นิธิมา กล่าวว่า ตนจึงศึกษาคุณสมบัติของแป้งสับปะรดและคิดริเริ่มศึกษาคิดค้นพลาสติกที่ทำจากแป้ง เข้ามาทดแทนพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าแป้งสับปะรดมีอะไมโลส (Amylose) ในปริมาณสูง ถือเป็นแป้งที่ย่อยยาก เมื่อขึ้นรูปเป็นพลาสติกจะมีคุณสมบัติเชิงกลที่สูง มีความทนต่อการใช้งานมากกว่าแป้งที่มีอะไมโลสต่ำ นอกจากนี้ ยังดูดซับน้ำได้น้อยกว่า ทำให้วัสดุที่ได้เปื่อยยุ่ยน้อยกว่า โดยแป้งสับปะรดมีปริมาณอะไมโลสสูงกว่าแป้งทั่วไป 2 เท่า ทั้งยังมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่า เพราะเป็นการนำขยะทางการเกษตรมาแปรรูป
"จากการนำมาลองทำเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้ เพื่อช่วยลดความบอบช้ำของต้นกล้า โดยไม่ต้องฉีกถุงเพาะชำก่อนปลูกเหมือนพลาสติกทั่วไป ซึ่งวัสดุจากแป้งสับปะรดสามารถสลายในดินได้เองภายในเวลา 45 วัน มีความคงทนแข็งแรงกว่าวัสดุจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งย่อยสลายในดินภายใน 15 วัน ซึ่งเป็นการย่อยสลายที่เร็วเกินไป ไม่เหมาะต่อการใช้งาน ผลการทดลองที่ได้ พบว่าพลาสติกจากแป้งสับปะรดมีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมาก อาจนำไปทำกล่องใส่อาหาร ทดแทนกล่องโฟม หรือกล่องพลาสติก เป็นการลดการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากแป้งสับปะรดไม่ได้เป็นแป้งที่เรานำมาใช้บริโภคเป็นหลักเหมือนอย่างแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้" ดร.นิธิมา กล่าว
รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย อาจารย์ที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์นวัตกรรมระดับดี มีกำหนดเข้าพิธีมอบรางวัล และโล่ประกาศเกียรติคุณ ในวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2562 วันที่ 8 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้เห็นว่ามีหลายอย่างรอบตัวเราที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และจะต้องวิจัยต่อไปอีก สิ่งที่เราพบอาจทดแทนพลาสติกที่เราใช้กันค่อนข้างมากได้ในบางด้านเท่านั้น ไม่อยากให้มองกันแต่ว่าพลาสติกทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ เนื่องจากไม่มีวันย่อยสลาย เป็นการมองที่ปลายเหตุ เพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เกิดจากความไม่รับผิดชอบของผู้ใช้ พลาสติกก็มีข้อดีที่ว่าสามารถผลิตได้คราวละมากๆ โดยใช้พลังงานน้อย และสามารถเอาไปทำประโยชน์ได้หลากหลาย และในบางกรณีก็จำเป็นต้องใช้อย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่น การนำไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องใช้พลาสติกที่มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ถุงที่ใช้บรรจุเลือด หรือภาชนะบรรจุเพื่อรักษาสภาพอาหาร จึงอยากให้ใช้กันอย่างรับผิดชอบ โดยช่วยกันนำมารีไซเคิล แทนที่จะต้องไปสร้างพลาสติกใหม่