xs
xsm
sm
md
lg

หมอสรุป "สาวหนองคาย" เซลล์มะเร็งลดจากเคมีบำบัด ชี้ "กัญชา" ช่วยลดปวด กินนอนดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการแพทย์ ลงเยี่ยมบ้านสาวป่วยมะเร็งที่หนองคาย พบใช้สารกัญชามาก่อนให้ยาเคมีบำบัด แต่เซลล์มะเร็งยังกระจาย ส่วนก้อนมะเร็งลดลง เพราะใช้ยาเคมีบำบัดภายหลัง แต่สารกัญชาช่วยให้อยากอาหาร ลดปวดท้อง นอนหลับได้ดีขึ้น คนไข้พร้อมรักษาควบคู่ ย้ำใช้สารกัญชาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

วันนี้ (7 ก.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีหญิงสาว จ.หนองคาย ที่ถ่ายคลิปวิดีโอบอกถึงการใช้น้ำมันกัญชาช่วยให้มีอาการดีขึ้น แทบจะหายป่วยจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย ว่า จากการลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี โรงพยาบาลท่าบ่อ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และผู้ใหญ่บ้าน พร้อมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะผ่าตัดมาหลายปี และตรวจพบมะเร็งลามไปตับ โดยผู้ป่วยได้ให้ข้อมูลว่า มีการเริ่มใช้สารสกัดกัญชามาตั้งแต่ พ.ย. 2561 อาจจะส่งผลให้อาการที่ดีขึ้น คือ เหนื่อยน้อยลง ทานอาหารได้มากขึ้น อาการแน่นท้องลดลง สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ต่อมาใน ก.พ. 2562 พบก้อนมะเร็งที่เต้านม จึงเข้ารับการรักษาที่ รพ.มะเร็งอุดรธานี แพทย์จึงเริ่มให้ยาเคมีบำบัด โดยหลังจากการให้เคมีบำบัดมา 3 รอบ แพทย์เจ้าของไข้ตรวจพบว่า ทั้งก้อนมะเร็งที่เต้านมและที่ตับมีขนาดเล็กลง จึงสรุปได้ว่า กรณีนี้ผู้ป่วยมีการใช้สารกัญชามาก่อนการใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจจะมีผลดีในด้านกระตุ้นความอยากอาหาร ลดอาการปวดท้อง สามารถทำให้คนไข้หลับพักผ่อนได้ดีขึ้น จึงมีสภาพร่างกาย จิตใจโดยรวมดีขึ้น

"จากข้อมูลที่ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยและแพทย์เจ้าของไข้ พบว่าก้อนมะเร็งที่เต้านมและตับ ยุบตัวลงมากหลังจากได้รับเคมีบำบัด ซึ่งผู้ป่วยยืนยันที่จะรักษาที่ รพ.มะเร็งอุดรธานีโดยใช้ยาเคมีบำบัดควบคู่ไปกับการใช้กัญชาโดยวิธีป้ายใต้ลิ้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะใช้สารสกัดกัญชา แต่เซลล์มะเร็งก็ยังแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ดังนั้น ผู้ป่วยควรจะต้องเข้ารับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง" นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า ขอแนะนำประชาชนว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หากนำมาใช้ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม และต้องไม่ทิ้งการรักษาตามมาตรฐานที่มีอยู่ นอกจากนี้ สารสกัดจากกัญชาอาจทำให้เกิดโทษได้ ดังนั้น การใช้ต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์ในเงื่อนไขผู้ป่วยรายกรณี


กำลังโหลดความคิดเห็น