ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จี้ตรวจสอบข้อเท็จจริง "แม่ลูก 6" ร้องตรวจเอชไอวีพลาด ย้ำหากผลตรวจเอชไอวีสองครั้งแรกไม่ตรงกัน ต้องมาตรวจยืนยันครั้งสุดท้าย ส่วนให้เด็กกินยาต้านแม้ผลไม่ชัวร์เป็นไปตามมาตรฐาน ชี้หากลูกกินยาต้าน 5 ปีจริง จะมีผลตรวจภูมิคุ้มกันทุก 6 เดือน จำนวนไวรัสทุก 1 ปีตามสิทธิ ช่วยยืนยันได้ติดเชื้อจริงหรือไม่
ความคืบหน้ากรณีนางมณีรัตน์ คงหอม แม่ลูก 6 พร้อมทหนายเรียกร้อง ให้ตรวจสอบ รพ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ว่ามีการตรวจเชื้อเอชไอวีผิดพลาด จนทำให้เข้าใจว่าติดเชื้อมาตลอด 5 ปี โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครศรีธรรมราช แถลงว่า บันทึกการรักษาระบุเพียงยังสรุปไม่ได้ ไม่ได้ระบุว่าติดเชื้อ เพราะผลการตรวจเชื้อครั้งแรกเป็นบวก ครั้งที่สองเป็นลบ แต่นางมณีรัตน์ไม่ได้มาตรวจยืนยันครั้งสุดท้ายตามนัด
วันนี้ (5 ก.ค.) นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปตามที่ สสจ.นครศรีธรรมราชแถลงว่า ผลตรวจสองครั้งไม่เหมือนกัน และต้องเรียกมาตรวจใหม่ ซึ่งมาตรฐานก็ต้องเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ การตรวจครั้งแรกด้วย "แรพิด เทสต์ (Rapid Test)" ก็มีความน่าเชื่อถือที่สูงพอที่จะใช้ แต่ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดผลบวกปลอมได้ จึงต้องมีการคอนเฟิร์มครั้งที่สองด้วยวิธีการอีไลซา ซึ่งเป็นวิธีคอนเฟิร์มที่ได้มาตรฐาน โดยหากผลออกมาเป็นลบ เพื่อความมั่นใจก็ต้องกลับมาตรวจยืนยันด้วยวิธีอื่นเป็นครั้งที่สาม เช่น เวสเทิร์น บลอต (Western blot) หรือ แนท (Nucleic Acid Amplification Testing: NAT) เป็นต้น คนทั่วไปถ้ามีผลที่ไม่ชัวร์ก็ต้องกลับมาตรวจ
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ส่วนการตรวจเอชไอวีในเด็กแรกเกิด มักจะใช้วิธีพีซีอาร์ ที่มีความแม่นยำสูงระดับที่เชื่อถือได้ แต่วิธีปฏิบัติที่ใช้กันก็ต้องมาตรวจอีกครั้งตอนอายุ 18 เดือน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันของเด็กเอง ไม่ใช่ของแม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อผลตรวจของแม่ก็ยังไม่แน่ชัด แล้วของลูกอาจจะเป็นผลบวกหรือลบซึ่งตนไม่ทราบ แต่การให้ยาป้องกันแก่เด็กไว้ก่อน ในความคิดเห็นของตนก็คิดว่าเป็นมาตรฐาน อย่างกรณีที่มิสซิสซิปปี เด็กที่ได้รับยาต้านเร็ว จะอยู่ในเกณฑ์ที่รักษาได้ดี คุมเชื้อได้ดี มีโอกาสดีกว่าเด็กที่ได้รับยาช้า
"ส่วนที่ระบุว่าเด็กกินยาต้านมาตลอด 5 ปีนั้น ตรงนี้ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ไปรับยาจากโรงพยาบาลใด และผลการใช้ยาเป็นอย่างไร เพราะตามมาตรฐานสิทธิประโยชน์ คือ ทุก 6 เดือนจะได้ตรวจค่าภูมิคุ้มกัน (CD4) และทุก 1 ปีจะได้ตรวจหาจำนวนไวรัสว่า ยาที่กินนั้นลดไวรัสได้หรือไม่ จะต้องมีการตรวจติดตาม ถ้าแม่พาเด็กมารับยาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีจริง จะต้องมีการตรวจค่าต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไร ใครพูดจริงหรือไม่จริงอย่างไร" นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า อยากฝากว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะราย ไม่ใช่เป็นเรื่องของระบบ เพราะระบบที่วางไว้ก็เป็นมาตรฐานและยังดีอยู่ เพราะฉะนั้น คนที่ติดเชื้อไวรัสและกินยาต้านอยู่ได้ตรวจคอนเฟิร์มทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี ตามเกณฑ์ที่วางไว้ ก็ไม่ต้องตระหนกว่า ผลตรวจของตัวเองจะผิดหรือไม่ และอยากจะมาตรวจเลือดอีก เพราะดูจากจำนวนไวรัสก็รู้อยู่แล้วว่ามีเชื้อหรือไม่ อย่าแตกตื่น อย่าขาดยาและไปตรวจตามนัดเสมอ ถ้าเคยตรวจติดตามเจอเชื้อไวรัสก็แสดงว่าติดจริง แต่การกินยาไปนานๆ แล้วตรวจหาไวรัสนับไม่ได้ ก็คือติดเชื้อแล้วแต่ประสิทธิภาพของยานั้นใช้ได้