xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เรียกเอกสารรักษา สาวร้องตรวจเอชไอวีพลาด ประสานบัตรทองเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ.ตั้ง คกก.สืบข้อเท็จจริงสาวร้อง รพ.ตรวจเอชไอวีพลาดแล้ว เรียกเอกสารรักษามาตรวจสอบได้เร็วๆ นี้ เผยไม่มีการฝากครรภ์ เป็นการคลอดฉุกเฉิน มีการตรวจเอชไอวีตามปกติ เมื่อพบจึงให้ยาต้านไว้ก่อน ระบุ แล็บ อุปกรณ์ได้มาตรฐาน ยันดูแลเยียวยา ประสาน สปสช.พิจารณา

นพ.พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวถึงกรณีสาวลูก 6 ร้องให้ตรวจสอบ นพ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่ตรวจเอชไอวีพลาดทำให้เข้าใจว่าติดเชื้อนานกว่า 5 ปี ว่า ปลัด สธ.ได้รับเรื่องร้องเรียน และให้มีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว อยู่ระหว่างการเรียกเอกสารการดูแลผู้ป่วยรายนี้ คาดว่าน่าจะได้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังพื้นที่ ข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่าห้องแล็บเป็นไปตามมาตรฐานของสภาเทคนิคการแพทย์ อุปกรณ์การตรวจเชื้อเอชไอวีก็เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.)

นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเบื้องต้น คือ ระหว่างที่หญิงสาวรายนี้ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4 ไม่ได้มาฝากครรภ์ที่ รพ.ทุ่งสง วันที่คลอดก็เป็นการคลอดฉุกเฉิน ระหว่างที่มาเฝ้าไข้ลูกอีกคนที่ป่วยเข้า รพ.ทุ่งสง ซึ่งหลังคลอดเจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อเอชไอวีตามปกติเพื่อจะได้ป้องกันทารก โดยครั้งแรกตรวจด้วย Rapid Test ให้ผลเร็ว พบว่ามีปฏิกิริยา ซึ่งยังไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นการติดเชื้อจริง จึงต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีอีไลซา ซึ่งวิธีนี้ต้องรอผล แต่ระหว่างรอผล ตามมาตรฐานรพ.ก็ต้องให้ยาต้านไวรัสกับทารก เพื่อป้องกันเอาไว้ และหลังคลอดได้นัดหมายหญิงสาวคนดังกล่าวมาตรวจยืนยันผลในครั้งที่เหลือ เพราะตามมาตรฐานต้องตรวจยืนยันด้วย 3 วิธี จึงจะบอกได้ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่

"อย่างไรก็ตาม ทราบว่าหญิงสาวรายนี้มาตามนัด แต่ไม่สะดวกให้มีการเจาะเลือดแต่อย่างใด ดังนั้น ปัญหาอาจจะเป็นเรื่องของช่องว่างในการสื่อสารหรือไม่ ส่วนการตั้งครรภ์ลูกคนที่ 5 ก็ไม่ได้มีการมาฝากครรภ์ ช่วงที่คลอดก็เป็นการคลอดฉุกเฉินเช่นเดียวกัน ผลตรวจเลือดก็พบว่ามีปฏิกิริยาเช่นกัน" นพ.พิทักษ์พล กล่าวและว่า ส่วนมีสิทธิ รพ.ทุ่งสงหรือทีรอื่น หรือฝากครรภ์จากที่อื่นมาก่อนหรือไม่ ยังไม่ได้ตรวจสอบ แต่เคยพาลูกมารักษาที่รพ.ทุ่งสง จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าสิทธิอยู่ที่รพ.ทุ่งสง

เมื่อถามว่า หลังจากนั้นได้พาลูกมารับยาต้านไวรัสฯ อย่างไร นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า การให้ยาต้านไวรัสในเด็กเราไม่ได้ให้ไปตลอดชีวิต ปกติจะให้ตามสูตร อย่างรายนี้ยาต้านที่ให้กับทารกเป็นสูตร 1 เดือน พอครบเกณฑ์แล้วตรวจเลือดพบว่าไม่มีเชื้อ เท่ากับเราประสบความสำเร็จในการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก

นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า เรื่องการเยียวยาเรียนว่า จะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่าต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี หลังทราบความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งทาง สธ.ยินดีที่จะอำนวยความสะดวกทางเอกสารที่เกี่ยวข้อง และยินดีให้คำแนะนำในการยื่นเรื่อง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการดูแลผู้เสียหายให้ดีที่สุดเป็นเรื่องเหนืสิ่งอื่นใด จึงได้กำชับพื้นที่ให้ดูแลเคสนี้ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม หากต้องการการช่วยเหลือสิ่งใดก็ขอให้ช่วยเหลือกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น