เครือข่ายควบคุมยาสูบ แฉบริษัทบุหรี่ "ฟิลลิป มอร์ริส" แอบแฝงจัดงานประชุมวิชาการในไทย ผ่านมูลนิธิที่ให้งบก่อตั้งเอง ชี้ตุรกีสั่งยกเลิกจัดแล้ว อินเดียก็เฝ้าระวัง สธ.เล็งตีความเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ด้าน บ.ฟิลลิปฯ ยันไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมูลนิธิ แค่ให้งบอย่างเดียว
วันนี้ (4 ก.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวจัดเสวนาและแถลงข่าว “เปิดโกงกลยุทธ์ล่าสุดของบริษัทบุหรี่” ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ และหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการควบคุมยาสูบ ได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการงาน “Smoke-Free Dialogues” ในวันที่ 25 ก.ค. ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดบุหรี่ (Smoke-Free World) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและจัดทำ Smoke-Free Index ดัชนีเสริมกลไกการควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีอยู่ปัจจุบัน และจัดทำดัชนีดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคขององค์การอนามัยโลก แต่จากการตรวจสอบพบว่า มูลนิธินี้ได้รับเงินสนับสนุนให้ตั้งขึ้นจากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ของโลก ซึ่งให้เงินสนับสนุนปีละ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี
"ขอตั้งข้อสังเกตว่าการประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการหาข้อมูลมาสนับสนุนแผนธุรกิจที่ต้องการวางผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ที่สำคัญการจัดประชุมเช่นนี้ผิดกฎหมายมาตรา 35 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ห้ามบริษัทบุหรี่สนับสนุนบุคคลหรือหน่วยงานร่วมการประชุม อีกทั้งในส่วนของประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2554 ที่กำหนดให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 ที่ห้ามไม่ให้หน่วยงานราชการเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ ทั้งนี้ รัฐบาลตุรกีได้สั่งให้ยกเลิกการประชุมในแบบเดียวกันนี้ ซึ่งมีกำหนดจัดที่ประเทศตุรกีในวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ออกหนังสือเวียนถึงผู้ว่าการของทุกรัฐ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ทุกหน่วยงานไม่มีการสังฆกรรมใดๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา กรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า ตนได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว แต่เนื่องจากท้ายอีเมล์ได้ระบุว่าการประชุมได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งตนเป็นนักวิชาการและแพทย์ จึงไม่ขอเข้าร่วมในกิจกรรมที่มีวาระซ่อนเร้น แอบแฝง เช่นเดียวกับนักวิชาการไทย ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมรวม 9 ท่านที่ไม่ตอบรับขอเข้าร่วมประชุมด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ไม่เห็นด้วยในการประชุมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดบุหรี่ (Smoke-Free World) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติดังกล่าว
ดร.เรณู การ์ก นักวิชาการจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก มีนโยบายชัดเจนที่ไม่สังฆกรรมใดๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะจากการดำเนินการเพื่อแสวงกำไรของอุตสาหกรรมยาสูบ และได้กำหนดแนวทางไว้อย่างชัดเจนว่าให้รัฐบาลเข้มงวดการมีปฏิสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงความร่วมมือกับอุตสาหกรรมยาสูบ
“ถ้าบริษัทฟิลลิป มอร์ริส มีความจริงใจที่จะผลักดันให้ทั่วโลกไร้ควันบุหรี่จริง บริษัทฯ ควรจะต้องสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก แต่ความจริงที่ปรากฏ คือ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ได้ต่อต้านนโยบายเหล่านี้โดยสิ้นเชิง บริษัทฯ ได้ทำการวิ่งเต้นล็อบบี้ ยื้อเวลา และขัดขวางการออกนโยบาย กฎหมาย เพื่อการควบคุมยาสูบตามกรอบขององค์การอนามัยโลกมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ทุ่มทุนมหาศาลกว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 720 ล้านบาทในการต่อต้านการออกกฎหมายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ในประเทศอุรุกวัย” ดร.เรณู กล่าว
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ทางสมาพันธ์และเครือข่ายมีนโยบายชัดเจนว่า เราจะไม่ร่วมมือใด ๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ ชื่อมูลนิธิเขาดูดีมาก เพื่อล่อให้คนเข้าใจผิดไปร่วมมือกับเขา แต่ตนว่านักวิชาการไทยมีจรรยาบรรณและรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของบริษัทบุหรี่ เราเชื่อว่าเขายังมีแผนอื่น ๆ อีกเยอะ เพราะเขาต้องการเปลี่ยนทิศทางการตลาดสู่บุหรี่พันธุ์ใหม่ สมาพันธ์ฯ จะร่วมกับเครือข่ายนานาชาติในการส่งสัญญาณให้เขารู้ว่าไม่มีใครร่วมมือกับมูลนิธินี้ แต่ละปี 8 ล้านชีวิตต้องสังเวยให้กับธุรกิจยาสูบและมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ดังนั้น อย่าหลงเชื่อธุรกิจยาสูบหรือข้อมูลที่เกิดจากการสนับสนุนของธุรกิจยาสูบ
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตนจะนำประเด็นดังกล่าวมาหารือต่อคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เบื้องต้นมีประเด็นต้องพิจารณา ดังนี้ 1.วัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับของการจัดงานขัดต่อกฎหมายหรือไม่ 2.ครม.มีมติเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2554 ให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตามแนวทางกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 ที่ห้ามไม่ให้หน่วยงานราชการเกี่ยวข้องกับบุหรี่เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ การมีหนังสือเชิญผู้แทนของรัฐ แพทย์และนักวิชาการและบุคลากรของรัฐจะขัดต่อ ครม.หรือไม่ และ 3. หากมีการสนับสนุน เช่น ค่าพาหนะเดินทาง ค่าใช้จ่าย ค่าที่พักแก่ผู้บรรยาย จะเข้าข่ายความผิดมาตรา 35 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 โดยการให้สนับสนุนบุคคลมุ่งหมายสู่การแทรกแซงนโยบายของรัฐ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม
ด้าน นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ทั้งฟิลลิป มอร์ริส ไทยแลนด์และฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (พีเอ็มไอ) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเรา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไรที่มุ่งเน้นการทำงานด้านการลดผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ แม้พีเอ็มไอสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นให้กับมูลนิธิฯ แต่พีเอ็มไอและองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมยาสูบไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานหรือการจัดกิจกรรมใดๆ ของมูลนิธิฯ ทั้งนี้ เรารู้สึกผิดหวังที่เห็นเครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่คัดค้านการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ของหน่วยงานอิสระเพียงเพราะมีอคติต่ออุตสาหกรรมยาสูบ