จิตแพทย์ เผยโจ๋ไทยกว่า 3 แสนคน มีปัญหติดเหล้า บุหรี่ แนะให้ใช้ 5 เทคนิคปฏิเสธเนียนๆ หากถูกเพื่อนชวนให้ลองไปในทางที่ผิด ย้ำเตือนอย่าใจอ่อนกับ 6 ประเภทคำพูดเซ้าซี้ สบประมาท ที่อาจสร้างความไขว้เขวได้ง่าย
วันนี้ (30 มิ.ย.) นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระบบต่างๆ ในร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์และมีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม ทำให้ยากต่อการคาดเดาในอนาคต และยังมีสิ่งยั่วยุมากมาย ทั้งจากการโฆษณา เน็ตไอดอลต่างๆ อาจทำให้วัยรุ่นเสี่ยงมีพฤติกรรมไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย ที่สำคัญ คือ การใช้สารเสพติด เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ซึ่งมีผลทำลายความสามารถของสมองโดยเฉพาะส่วนความคิด ความจำ เสียการเรียน มีผลทำให้เกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเภท และอาจนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ
พญ.สายสุดา สุพรรณทอง จิตแพทย์ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา อายุ 13-17 ปี มีปัญหาติดเหล้าและบุหรี่รวม 3 แสนกว่าคน โดยติดบุหรี่ ร้อยละ 2.4 หรือประมาณ 93,000 คน จากกลุ่มวัยนี้ที่มีจำนวนเกือบ 4 ล้านคน และติดเหล้าร้อยละ 6.4 หรือมีประมาณ 240,000 คน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-4 เท่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยติดสุราที่เข้าบำบัดรักษาอาการทางจิตที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ปีนี้ พบมีอายุน้อยที่สุดเพียง 20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถรักษาให้สมองกลับมาเหมือนเดิมได้
พญ.สายสุดา กล่าวว่า โอกาสพฤติกรรมความเสี่ยงของวัยรุ่นแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น การเลี้ยงดู สภาพครอบครัว พื้นฐานทางอารมณ์ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ เพื่อน เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่จะผูกพันกับเพื่อนมาก จะเรียนรู้ทักษะทางสังคมรวมถึงการยอมรับค่านิยมต่างๆ แนวคิดการปฏิบัติมาจากเพื่อน ซึ่งอาจถูกชักชวนไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ และบางครั้งวัยรุ่นเองไม่ได้คิดอะไรให้รอบคอบ เพราะเกรงใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่กล้าปฏิเสธ เพราะกลัวเพื่อนโกรธ จึงจำเป็นต้องมีความรู้และมีทักษะการปฏิเสธหากถูกเพื่อนชักชวนไปในทางที่ไม่ดี เพื่อใช้ในดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัย เป็นผลดีต่อตนเอง
สำหรับเทคนิคปฏิเสธเพื่อนให้ได้ผลและไม่เสียเพื่อนด้วยมีข้อแนะนำ 5 ประการ ดังนี้ 1.ให้ใช้การปฏิเสธอย่างจริงจัง ทั้งท่าทาง คำพูด และน้ำเสียง เพื่อแสดงความตั้งใจอย่างชัดเจน เนื่องจากการปฏิเสธเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทุกคนควรเคารพและยอมรับ 2.ให้ใช้ความรู้สึกเป็นข้ออ้างประกอบเหตุผลด้วยเช่น ไม่สบาย, หมอสั่งห้าม จะทำให้ฝ่ายชักชวนโต้แย้งได้ยากขึ้น 3. ควรบอกปฏิเสธให้ชัดเจน เช่น ไปไม่ได้หรอก, ไม่ชอบ, ขอไม่ไปด้วย 4. การขอความเห็นชอบและแสดงอาการขอบคุณเมื่อผู้ชวนยอมรับการปฏิเสธเพื่อเป็นการรักษาน้ำใจของผู้ชวน เช่น พูดว่าคงไม่ว่านะ, คงเข้าใจนะ และ 5. ให้ออกจากสถานการณ์นั้น โดยกรณีเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นที่ไม่น่าไว้วางใจหรืออาจเป็นอันตราย ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาน้ำใจแต่อย่างใด เพียงใช้การปฏิเสธอย่างสุภาพ แล้วออกไปจากสถานการณ์โดยเร็ว
พญ.สายสุดา กล่าวว่า หากปฏิเสธไปแล้ว แต่เพื่อนยังพูดเซ้าซี้ชักชวนหรือพูดสบประมาท ซึ่งอาจจะสร้างความสับสน ไขว้เขวได้ คำพูดที่มักใช้กันบ่อยมี 6 ประเภท ได้แก่ 1. พูดดูถูก เช่น กลัวใช่ไหม, ไม่กล้าจริงนี่นา 2. การโต้แย้ง เช่น พูดว่าคนรุ่นใหม่เขาทำกันอย่างนี้ทุกคน ใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น 3. ใช้คำข่มขู่ เช่น ถ้าไม่ทำ เจ็บแน่ 4. การพยายามกลบเกลื่อนมองไม่เห็นปัญหา เช่น พ่อแม่ไม่ว่าหรอก, ไม่มีใครรู้หรอก 5. การอ้างเหตุผลเข้าข้าง เช่น เธอโตแล้วนะ, อย่าเป็นเด็กอยู่เลย และ 6. การพยายามออกนอกเรื่อง เช่น พูดว่า พึ่งรู้ว่าเวลาเธอโมโหแล้วสวยจัง เป็นต้น ก็ไม่ควรหวั่นไหวหรืออย่าใจอ่อนกับคำพูดเหล่านั้น เพราะจะทำให้ขาดสมาธิได้ ขอให้ยืนกรานการปฏิเสธโดยให้เลือกใช้ 3 เทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมบอกลาแล้วเดินจากไปทันที ดังนี้
1. ปฏิเสธซ้ำโดยไม่ต้องใช้ข้ออ้าง 2. การต่อรองและเบนความสนใจ โดยชวนเพื่อนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เช่น พูดว่าเรากลับบ้านกันดีกว่า เดี๋ยวพ่อแม่จะเป็นห่วง หรือ 3.การผัดผ่อนยืดเวลาออกไปเพื่อให้ผู้ชวนเปลี่ยนความตั้งใจ เช่นพูดว่า เอาไว้วันหลังดีกว่า, ตอนนี้ยังไม่ว่าง เป็นต้น เทคนิคการปฏิเสธเพื่อนที่กล่าวมา วัยรุ่นสามารถใช้ในกรณีถูกชวนให้กระทำเรื่องอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง เช่น ชวนเล่มเกมพนัน มีเพศสัมพันธ์ ร่วมแก๊งรถซิ่งได้ด้วย