xs
xsm
sm
md
lg

10 เรื่องควรรู้ก่อนฝึกลูกน้อยนั่งคาร์ซีท / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้เขียนจำได้ว่าสมัยเด็กต้องตื่นแต่เช้านั่งรถยนต์ไปโรงเรียนและมักถือโอกาสนอนคุดคู้ที่เบาะหน้า ครั้งหนึ่งรถยนต์หยุดกะทันหันจนทำให้ตัวเองพุ่งตกจากเบาะโดยไม่ทันตั้งตัว โชคดีที่มีเพียงรอยฟกช้ำบ้างนิดหน่อยแต่ก็จำขึ้นใจ ต่อมาเมื่อมีกฏหมายบังคับให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อทำการโดยสารรถยนต์ ผู้เขียนก็ยกมือสนับสนุนเต็มที่และปฏิบัติตามจนเป็นความเคยชินที่ขาดไม่ได้

อุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นสิ่งไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่อยู่บนท้องถนน ด้วยความที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์มาก่อนโดยไม่มีการป้องกัน จึงไม่อยากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนประมาทและไม่ควรคิดว่าจะโชคดีทุกครั้งไป รถยนต์ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ดีและทันสมัยกว่าเมื่อก่อนมาก ก็ยิ่งต้องไม่ประมาท แต่ควรใช้ประโยชน์จากตรงนี้ให้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสบาดเจ็บจากเหตุที่ไม่คาดคิดได้

สำหรับเด็กๆแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใส่ใจในรายละเอียดของความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถยนต์มากยิ่งขึ้น รถยนต์โดยมากมักตอบสนองการใช้งานของผู้ใหญ่เป็นหลัก อุปกรณ์ต่างๆจึงไม่สอดคล้องกับรูปร่าง สรีระและไม่สนับสนุนการใช้งานของเด็กโดยตรง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “คาร์ซีท” (Car Seat) ทำหน้าที่ในการป้องกันอาการบาดเจ็บหรือลดโอกาสและความรุนแรงจากการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยมีการออกแบบให้เหมาะสมกับรูปร่างและสรีระของเด็กในแต่ละช่วงวัย เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน แต่คุณพ่อคุณแม่หลายคนยังมีความไม่เข้าใจและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งานคาร์ซีทร่วมกับเด็กอยู่พอสมควร ต่อไปนี้จึงเป็น 10 เรื่องควรรู้ก่อนฝึกลูกน้อยนั่งคาร์ซีท

1.ทำไมต้องใช้คาร์ซีท?

คาร์ซีทเป็นที่นั่งประกอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เนื่องจากที่นั่งและเข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับตัวรถมีรูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับรูปร่างและสรีระของเด็ก จึงอาจเกิดอันตรายในการใช้งานและไม่สามารถป้องกันหรือลดโอกาสและความรุนแรงจากการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ให้กับเด็กได้

2.จะเริ่มใช้คาร์ซีทได้เมื่อไร?

เริ่มใช้ได้ทุกเมื่อและทันทีที่ต้องพาลูกเดินทางไปกับรถยนต์ กล่าวได้ว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยนั่งคาร์ซีทได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกในวันแรกที่เดินทางออกจากโรงพยาบาลเลยก็ว่าได้ หากเริ่มต้นได้เร็วก็มีโอกาสสร้างความเคยชินให้กับเด็กได้เร็ว และควรใช้ต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุประมาณ 12 ปี

3.รูปแบบของคาร์ซีทที่ใช้ควรพิจารณาจากอะไร?

คาร์ซีทมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับช่วงวัย ส่วนสูงและน้ำหนักตัวของเด็กเป็นสำคัญ โดยทั่วไปช่วงเด็กแรกเกิดถึงน้ำหนักไม่เกิน 9 กก. ให้ใช้คาร์ซีทที่หันหน้าเข้าหาพนักพิงเบาะหลัง และเปลี่ยนไปใช้แบบหันหน้าไปทางหน้ารถได้ตั้งแต่อายุประมาณ 3-12 ปี น้ำหนักตัว 9-36 กก.

4.ราคามีผลต่อระดับความปลอดภัยหรือไม่?

คาร์ซีทมีหลากหลายราคาให้เลือก แตกต่างกันไปตามรูปแบบ วัสดุ ลูกเล่นและความนิยม แต่สิ่งสำคัญคือการพิจารณาการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยที่เรียกว่า ECE โดยจะมีฉลากสีส้มระบุรหัส ECE R44/04 ติดไว้อยู่ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางการเงินของคุณพ่อคุณแม่และความชอบของคุณลูกแล้วล่ะ

5.จะซื้อคาร์ซีทมือสองมาใช้งานได้หรือไม่?

คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ที่มีการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ซึ่งโดยทั่วไปผู้ผลิตจะระบุเวลาคุณภาพการใช้งานระหว่าง 6-7 ปี บางกรณีอาจมีการชำรุดที่มองไม่เห็นจากอุบัติเหตุ การเลือกใช้คาร์ซีทที่เคยผ่านการใช้งานมาแล้วจึงจำเป็นต้องตรวจสอบอายุและสภาพให้ดี เนื่องจากเกี่ยวพันกับเรื่องความปลอดภัย

6.วิธีใช้และตำแหน่งการติดตั้งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร?

คาร์ซีทแต่ละแบบมีรายละเอียดวิธีการใช้งานแตกต่างกัน การศึกษาคู่มือการติดตั้งและใช้งานจากผู้ผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนตำแหน่งการติดตั้งที่แนะนำคือตำแหน่งที่นั่งด้านหลังคนขับ หรือที่นั่งด้านหลังเยื้องกับคนขับในกรณีไม่มีผู้ดูแล ขณะที่การติดตั้งด้านหน้าจะเกิดอันตรายจากการชนและระบบถุงลมนิรภัยได้

7.จะฝึกลูกให้นั่งคาร์ซีทได้อย่างไร?

วิธีการที่ดูจะง่ายที่สุดคือพาลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่ยังแบเบาะ เด็กจะคุ้นเคยและไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่ต้องนั่งอยู่กับที่ตลอดการเดินทาง ไม่เช่นนั้นก็ต้องสร้างความคุ้นเคยด้วยการบอกว่าจะทำอะไร จะไปที่ไหน และพานั่งเป็นระยะทางใกล้ๆเป็นประจำโดยสร้างบรรยากาศที่เพลิดเพลินไปกับการพูดคุยหรือเล่นของเล่น

8.จะมีวิธีรับมือเมื่อลูกไม่อยากนั่งคาร์ซีทได้อย่างไร?

นี่เป็นคำถามสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวลและคำตอบคือ ให้ใช้วิธีการเดียวกับการรับมือกับลูกเวลาที่ดื้อหรืองอแง โดยดูว่าลูกหิวหรือรู้สึกไม่สบายตัวหรือไม่ หากเพียงรู้สึกเบื่อก็ควรใช้วิธีพูดคุยหรือเบี่ยงเบนความสนใจ สิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือคือ ตราบใดที่เด็กไม่นั่งคาร์ซีทก็ไม่สามารถออกเดินทางได้

9.จำเป็นต้องนั่งคาร์ซีททุกครั้งที่เดินทางหรือไม่?

ระหว่างที่รถยนต์กำลังเคลื่อนที่ไม่ว่าจะเดินทางใกล้ๆเพียงแค่หน้าปากซอย หรือเดินทางไกลข้ามจังหวัด เด็กควรต้องนั่งที่คาร์ซีทตลอดเวลา โดยจัดท่าทางการนั่งและตรวจสอบสายรัดเข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้อง หากเด็กงอแงต้องการออกจากที่นั่ง ให้คุณพ่อคุณแม่หาจุดพักรถที่ปลอดภัยก่อนพาลูกออกจากคาร์ซีทเสมอ

10.มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยอื่นอีกหรือไม่?

นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว คาร์ซีทยังช่วยให้เด็กนั่งอยู่กับที่นั่งตลอดการเดินทางป้องกันเด็กไปรบกวนการขับขี่ เปิดประตูหรือหน้าต่างขณะที่รถยนต์เคลื่อนที่ได้ แต่ก็ควรมีผู้ใหญ่นั่งดูแลอยู่ใกล้ๆ รวมถึงใช้ระบบป้องกันการเปิดหน้าต่างและประตูที่ติดมากับรถยนต์เพื่อป้องกันอีกทางหนึ่งด้วย

ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าลูกน้อยจะปลอดภัยได้เมื่อนั่งอยู่ในคาร์ซีท แต่พึงเข้าใจว่าคาร์ซีทเป็นเพียงตัวช่วยลดโอกาสและความรุนแรงของอาการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุด้วยการใช้รถใช้ถนนด้วยความไม่ประมาทและมีสติระลึกถึงความปลอดภัยของลูกน้อยและเพื่อนร่วมทางเป็นลำดับแรกทุกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น