xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดล เจ๋ง!วิจัย “เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ”ประเมินสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ๋ง! วิจัย“เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” เพื่อประเมินสุขภาพ คว้ารางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สกว.ปี 2561

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ดร.ธารา สีสะอาด นักวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก คปก. เข้ารับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 จากผลงานเรื่อง “เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ”(Intelligent Smelling Shirt) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยด้านพาณิชย์จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

กลิ่นกายมนุษย์สามารถบ่งบอกได้ว่าร่างกายมีสุขภาวะเป็นอย่างไร พบว่าในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจวัดกลิ่นกายแบบสวมใส่ได้เลย ทีมวิจัยจึงมองเห็นเป็นประเด็นโจทย์ว่า ระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ที่ต้องการพัฒนาขึ้น สำหรับประยุกต์ใช้ในการตรวจวัดกลิ่นที่ปล่อยออกมาจากร่างกายมนุษย์เพื่อประเมินสภาวะสุขภาพ ควรมีรูปร่างลักษณะ และคุณสมบัติเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาเซนเซอร์เคมีบนผ้าสำหรับระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ในรูปแบบ “เสื้อดมกลิ่นกาย”เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ โดยใช้กลิ่นที่ออกมาจากร่างกายเป็นดัชนีชี้วัดสถานะสุขภาพ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดการรุกรานของโรค และจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอย่างยิ่ง

งานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการครบวงจร เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำซึ่งเป็นงานวิจัยพื้นฐาน เพื่อค้นหาวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นเซนเซอร์เคมีประเภทวัสดุนาโนคอมโพสิตของพอลิเมอร์และท่อนาโนคาร์บอน (Polymer/CNTS) ด้วยวิธีการจำลองเชิงโมเลกุล (Molecular Simulation) จากนั้นศึกษาโครงสร้างอสัณฐานของวัสดุโดยอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์จาก Scanning Electron Microscope (SEM) และศึกษากลไกการทำงานของเซนเซอร์เคมีที่สร้างขึ้นจากเทคนิคการถัก การเย็บปัก และการพิมพ์สกรีน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเซนเซอร์เคมีให้มีความจำเพาะต่อโมเลกุลกลิ่นกาย (Selectivity) มีความไวในการตอบสนองต่อกลิ่น (Sensitivity) และมีเสถียรภาพในการตรวจวัดกลิ่น (Stability)ต่อมาในระดับกลางน้ำ จะเป็นการสร้างต้นแบบ หรือ Prototype ของระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ภายใต้การรับส่งข้อมูลแบบไร้สาย (Wireless Communication)และสุดท้ายในระดับปลายน้ำ จะเป็นการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้งานและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมใหม่“เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” เป็นเสื้อดมกลิ่นกายตัวแรกของโลกที่มีการเพิ่มฟังก์ชั่นการตรวจวัดกลิ่นให้กับสิ่งทอ และเป็นเอกลักษณ์ของการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในเอกสารสิทธิบัตรฉบับใดที่เคยทำมาก่อน โดยการใช้เทคนิคการพิมพ์สกรีนด้วยหมึกนำไฟฟ้า ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานอิเล็กทรอนิกส์ลงบนผ้าที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่ระดับอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังใช้ระบบการรับส่งข้อมูลด้วยเครือข่ายไร้สาย ระหว่างเสื้อดมกลิ่นกายกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงทำให้มีการรับส่งสัญญาณข้อมูลที่สะดวกรวดเร็ว มีการใช้งานที่ง่ายและต้องการพลังงานต่ำ สามารถทำงานที่อุณหภูมิห้องได้

ผลงานวิจัย “เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” (Intelligent Smelling Shirt)ได้รับการจดสิทธิบัตร (คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 16010032) และยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ตลอดจนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ และได้รับการพิจารณามอบรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติให้เป็นรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)





กำลังโหลดความคิดเห็น